กอนช. ถกเข้มแผนบริหารจัดการน้ำปี 67 เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้งแบบเชิงรุก คาดครึ่งปีแรกฝนน้อยจากอิทธิพลเอลนีโญ สั่งเกาะติดฝนรายเดือนพร้อมปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ย้ำทุกหน่วยอย่าประมาทสงวนน้ำให้มากที่สุด
วันนี้ (10 ม.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยผลการประชุมว่า สถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ในปัจจุบัน ระดับน้ำได้กลับเข้าสู่ระดับต่ำกว่าตลิ่งและสถานการณ์ได้คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างเต็มที่ ตามข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ทั้งนี้ ในระยะนี้ภาคใต้จะยังคงมีปริมาณฝนตกเล็กน้อย โดยเป็นฝนในลักษณะกระจายตัว ก่อนที่ปริมาณฝนจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอีกครั้งในช่วงกลางเดือนนี้ ซึ่ง กอนช. จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่ภาคใต้ที่มีปริมาณน้ำมาก 80-100% ของความจุ ทั้ง 20 แห่ง อย่างใกล้ชิด
"ในช่วงกลางเดือนมกราคมนี้ ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางระลอกใหม่ยังจะส่งผลให้พื้นที่บางส่วนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากอิทธิพลของสถานการณ์เอลนีโญทำให้ประเทศไทยมีภาพรวมปริมาณฝนทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติอยู่มาก และคาดการณ์ในครึ่งปีแรกจะมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติค่อนข้างมาก โดยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อยอยู่ 98 แห่ง โดยในจำนวนนี้อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึง 40 แห่ง ภาคเหนือ 25 แห่ง ภาคตะวันออก 13 แห่ง ภาคตะวันตก 9 แห่ง ภาคกลาง 7 แห่ง รวมถึงภาคใต้ที่แม้ในภาพรวมจะมีปริมาณฝนค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากภาคใต้ตอนบนและตอนกลางยังคงมีฝนตกน้อย ทำให้มีแหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่ง โดยขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 ทั้งในเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้มีการรักษาปริมาณน้ำต้นทุนไว้ให้มากที่สุดโดยไม่ประมาท รวมทั้งให้มีการติดตามคาดการณ์ปริมาณฝนแบบรายเดือนเพื่อปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากที่สุด" เลขาธิการ สทนช. กล่าว
ดร.สุรสีห์ เปิดเผยต่อว่า นอกจากนี้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงหน่วยงานของจังหวัด ยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาเชิงรุกอย่างต่อเนื่องตามแนวทางของรองนายกรัฐมนตรี โดยการลงสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง โดยเฉพาะปัญหาเสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคซึ่งได้มีการวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำบาดาลและน้ำผิวดิน ทั้งแบบเฉพาะหน้าและระยะยาว อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพการนำน้ำบาดาลมาใช้ วางแผนขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติม ขยายกำลังการผลิตน้ำประปาเข้าไปในพื้นที่ สูบผันปริมาณน้ำเพิ่มเติมไปยังแหล่งน้ำที่มีน้ำน้อย สำรวจเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำผิวดินและระบบกระจายน้ำเพิ่มเติม สร้างฝายหรือประตูน้ำเพื่อกักเก็บน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ได้ประสานไปยังสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยและศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อใช้เทคโนโลยีในการบำบัดน้ำเพิ่มศักยภาพในการผลิตน้ำอุปโภค บริโภค ให้กับประชาชน อีกทั้งยังได้ประสานการประปาส่วนภูมิภาคในการสร้างองค์ความรู้เพิ่มเติมในการบริหารจัดการประปาชุมชนด้วย พร้อมกันนี้ จะมีการพิจารณาลงสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งเพิ่มเติมจากแผนที่วางไว้ โดยประชาขนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาสามารถแจ้งเข้ามายัง สทนช. หรือผ่านทางแอปพลิเคชั่น National Thai Water
"อีกหนึ่งปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงฤดูแล้งคือเรื่องคุณภาพน้ำจากลิ่มความเค็มที่รุกตัวเข้ามาสู่ลำน้ำ ซึ่งในระยะนี้น้ำในแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง มีแนวโน้มค่าความเค็มค่อนข้างสูงขึ้น แต่ยังไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยกรมชลประทานได้มีการเตรียมพร้อมการระบายน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้กระทบต่อคุณภาพน้ำประปาแล้ว" เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย