กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--ส.อ.ท.
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 48 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนที่ผ่านมา เหตุยอดคำสั่งซื้อช่วงปลายปีชะลอตัว ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ส่งผลให้กิจการขาดความคล่องตัว เสนอรัฐดูแลราคาวัตถุดิบ เพื่อให้แข่งขันกับคู่แข่งต่างประเทศได้
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนพฤศจิกายน 2548 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 580 ตัวอย่าง ครอบคลุมทั้ง 33 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์อุตสาหกรรมในระดับที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 97.0 จาก 101.9 ในเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกหลังจากที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการเริ่มมีความกังวลต่อภาวะการณ์ด้านอุตสาหกรรม ทั้งนี้ สำหรับสาเหตุที่ทำให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง เนื่องมาจากค่าดัชนีหลักที่นำมาใช้คำนวณ 4 ใน 5 ปัจจัยปรับตัวลดลงจากเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ปรับตัวลดลงจาก 115.5 116.3 123.5 และ 113.4 ในเดือนตุลาคม เป็น 112.4 111.3 117.3 และ 108.7 ในเดือนพฤศจิกายน ตามลำดับ ขณะที่ ค่าดัชนีโดยรวมของต้นทุนการประกอบการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 69.3 ในเดือนตุลาคม เป็น 72.8 ในเดือนพฤศจิกายน
เมื่อพิจารณาสาเหตุที่ทำให้ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2548 ปรับตัวลดลงนั้นเนื่องมาจากในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ทำการสำรวจ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าในช่วงปลายปี ทั้งจากภายในและนอกประเทศได้ชะลอตัวลง อีกทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลเสียต่อกิจการเนื่องจากผู้ประกอบการต้องชำระหนี้เงินกู้ที่เพิ่มขึ้น และส่งผลให้ความคล่องตัวในการลงทุนเพิ่มเติมของกิจการลดลง รวมถึงทำให้การบริโภคสินค้าแบบผ่อนชำระของประชาชน ลดลง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบางส่วนมีความกังวลต่อสถานการณ์ข้อขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัจจัยที่อ่อนไหวและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินกิจการของภาคเอกชน ทั้งนี้ สำหรับปัญหาด้านระดับราคาวัตถุดิบและภาวะการขาดแคลนวัตถุดิบที่ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากในอุตสาหกรรมบางประเภท ยังเป็นผลให้ผู้ประกอบการต้องเร่งหามาตรการเพื่อลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศได้
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมในแต่ละปัจจัยที่เหลือของเดือนพฤศจิกายน 2548 ผลสำรวจพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับค่าดัชนีหลัก คือ ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ ดัชนีโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อในประเทศ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ยอดขายในประเทศ และยอดขายในต่างประเทศ ลดลงจาก 111.1 115.9 114.9 และ 117.7 ในเดือนตุลาคม เป็น 105.3 115.5 108.2 และ 113.0 ในเดือนพฤศจิกายน ตามลำดับ ส่วนดัชนีโดยรวมของราคาขาย สินค้าคงเหลือ และ การจ้างงาน ลดลงจาก 125.4 111.1 และ 115.6 ในเดือนตุลาคม เป็น 115.4 107.8 และ 109.5 ในเดือนพฤศจิกายน ตามลำดับ สำหรับค่าดัชนีโดยรวมของการใช้กำลังการผลิต การลงทุนของกิจการ และ สินเชื่อในการประกอบการ ลดลงจาก 138.3 118.0 และ 108.2 ในเดือนตุลาคม เป็น 131.0 111.0 และ 106.8 ในเดือนพฤศจิกายน ตามลำดับ เช่นเดียวกับ ดัชนีโดยรวมต่อสภาพคล่องของกิจการ ความสามารถในการแข่งขัน และสภาวะของการประกอบการของกิจการ ลดลงจาก 100.7 105.4 และ 120.6 ในเดือนตุลาคม เป็น 96.1 104.7 และ 114.0 ในเดือนพฤศจิกายน ตามลำดับ สำหรับค่าดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ดัชนีโดยรวมต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และ สภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นจาก 151.3 และ 132.7 ในเดือนตุลาคม เป็น 161.3 และ 138.2 ในเดือนพฤศจิกายน ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมฯ โดยจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ จำนวน 33 กลุ่ม พบว่า ค่าดัชนีรายอุตสาหกรรมเปรียบเทียบระหว่างเดือนตุลาคมกับเดือนพฤศจิกายน 2548 มีอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 12 กลุ่มอุตสาหกรรม ลดลง 21 กลุ่มอุตสาหกรรม ในกลุ่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมี 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ เพิ่มขึ้นจาก 91.8 เป็น 104.8 อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เพิ่มขึ้นจาก 114.9 เป็น 128.4 อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เพิ่มขึ้นจาก 101.5 เป็น 113.3 อุตสาหกรรมรองเท้า เพิ่มขึ้นจาก 76.3 เป็น 115.1 อุตสาหกรรม โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นจาก 85.5 เป็น 110.5 อุตสาหกรรมก่อสร้าง เพิ่มขึ้นจาก 88.8 เป็น 108.7 อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นจาก 95.2 เป็น 114.0 อุตสาหกรรมหัตถอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นจาก 87.8 เป็น 135.7 ในทางกลับกันมี 11 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ อุตสาหกรรมก๊าซ ลดลงจาก 111.0 เป็น 98.1 อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ลดลงจาก 92.0 เป็น 69.5 อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยนต์ ลดลงจาก 119.0 เป็น 102.4 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ลดลงจาก 100.3 เป็น 64.9 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ลดลงจาก 107.5 เป็น 96.4 อุตสาหกรรมพลาสติก ลดลงจาก 121.4 เป็น 97.7 อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น ลดลงจาก 100.7 เป็น 75.5 อุตสาหกรรมยา ลดลงจาก 118.1 เป็น 94.5 อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง ลดลงจาก 106.2 เป็น 84.7 อุตสาหกรรมเหล็ก ลดลงจาก 107.9 เป็น 90.9 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ลดลงจาก 116.9 เป็น 93.8 นอกจากนี้ จากค่าดัชนีความเชื่อมั่นเมื่อแยกพิจารณาในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว พบว่า มีกลุ่มอุตสาหกรรม 18 กลุ่มที่มีค่าดัชนีในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังคงมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในการประกอบธุรกิจในระดับที่ไม่ดีนัก
ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่แยกพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั้ง 3 ขนาด ได้แก่ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีจำนวนแรงงาน 1 - 49 คน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางที่มีจำนวนแรงงาน 50 - 199 คน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีลดลงจาก 96.3 102.2 และ 109.6 ในเดือนตุลาคม เป็น 88.3 100.2 และ 102.3 ในเดือนพฤศจิกายน ตามลำดับ โดยค่าดัชนีของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดย่อม ที่มีค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์อุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ไม่ค่อยดีนัก สาเหตุจากผู้ประกอบการมีความกังวลในเรื่องต้นทุนการประกอบการที่สูงขึ้น และปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ
สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมแยกตามภูมิภาค พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีลดลงจาก 97.6 100.7 100.6 117.9 และ 105.3 ในเดือนตุลาคม เป็น 95.9 96.5 89.9 111.0 และ 90.0 ในเดือนพฤศจิกายน ตามลำดับ
สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีความคิดเห็นสอดคล้องกันโดยต้องการให้รัฐบาลดูแลระดับราคาน้ำมันและค่าบริการสาธารณูปโภคให้มีเสถียรภาพเพื่อจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนธุรกิจของตนได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งควรมีการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง เพื่อลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาราคาน้ำมันอย่างยั่งยืนในระยะยาว นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังต้องการให้ภาครัฐเข้ามาให้การช่วยเหลือในการจัดหาแหล่งวัตถุดิบ สำหรับอุตสาหกรรมบางประเภทที่ประสบปัญหาภาวะการขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่มีการนำเข้าวัตถุดิบโดยการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันกับอุตสาหกรรมจากต่างประเทศได้--จบ--