ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภายหลังการหารือแนวทางการเพิ่มมูลค่าที่ดิน ส.ป.ก. และสินทรัพย์ในพื้นที่ ส.ป.ก. ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าจากนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระยะเร่งด่วนที่ต้องการสร้างรายได้และขยายโอกาสให้ภาคเกษตรมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเป็น 3 เท่า ภายใน 4 ปีของรัฐบาล โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าที่ดินและสินทรัพย์ในเขตปฏิรูปที่ดิน และคณะกรรมการพิจารณาทบทวนระเบียบและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร และได้รับเกียรติอย่างสูงจากนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการทั้ง 2 คณะ เพื่อให้คำแนะนำที่สำคัญเป็นกรอบทิศทางในการผลักดันให้โฉนดเพื่อการเกษตรสามารถรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรตัวจริง ขยายสิทธิในการโอนสู่ผู้อื่นนอกจากทายาทโดยธรรม รองรับการเพิ่มมูลค่าที่ดินและสินทรัพย์ในพื้นที่ ส.ป.ก. รวมทั้งแก้ไขข้อจำกัดเพื่อเพิ่มประโยชน์และเพิ่มมูลค่าโฉนดเพื่อการเกษตร ในส่วนการทบทวนระเบียบและกฎหมาย เน้นแก้ไขอุปสรรคสำคัญที่ต่อการผลิต การรับรองมาตรฐาน การขออนุมัติ/อนุญาต การส่งออกสินค้าเกษตร เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร
"กระทรวงเกษตรฯ ได้เปลี่ยน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร ซึ่งมีกฎหมายรองรับให้เกษตรกรเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง และไม่ตกไปอยู่ในมือของเอกชน ทั้งนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานกำกับดูแลโฉนดเกษตรเพิ่มเติม อาทิ โฉนดทะเล โฉนดต้นไม้ โฉนดกระชัง และอื่น ๆ ในภายหลัง เพื่อแปลงสินทรัพย์ของพี่น้องเกษตรกรให้เป็นทุน พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างจริงจัง" รมว. ธรรมนัส กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับการหารือในวันนี้ ได้เรียนเชิญนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ ทั้ง 2 คณะ นายชวลิต ชูขจร อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวีรชัย นาควิบูลย์วงศ์ และนายสรรเสริญ อัจจุตมานัส อดีตเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เข้าร่วมหารือในประเด็นการเพิ่มมูลค่าที่ดินและสินทรัพย์ในเขตปฏิรูปที่ดิน โฉนดเพื่อการเกษตร โฉนดน้ำ และโฉนดไม้มีค่า เพื่อการใช้ประโยชน์ที่ดินในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้ที่ดินและการพิจารณาทบทวนและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรไทยต่อไป