ในปี 2024 ประเด็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการพัฒนาที่ยั่งยืนจะไม่ได้เป็นแค่การทำเพื่อภาพลักษณ์ขององค์กรอีกต่อไป แต่กลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลกและในระดับประเทศ ทั้งในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากกฎและข้อบังคับเกี่ยวกับความยั่งยืนจากหน่วยงานระดับโลก รวมถึงการค้าระหว่างประเทศจะเริ่มมีการปรับเปลี่ยนมาตรฐาน เพื่อวางมาตรฐานใหม่ให้ธุรกิจลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
เทรนด์เรื่องนี้ทำให้ทุกภาคส่วนในประเทศไทยต้องปรับตัวอย่างมีนัยสำคัญ และหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนเป็นไปอย่างรวดเร็วก็คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะ ซึ่งจะช่วยในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีศักยภาพ โดยหัวเว่ยถือเป็นหนึ่งในองค์กรภาคเอกชนที่ผลักดันเรื่องกรีนเทคโน โลยีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดโดยตรง และด้านนวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคองค์กรด้วยการปรับกระบวนการทำงานในภาพรวม ซึ่งจะช่วยพาทุกฝ่ายก้าวสู่เป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคต
ดร. ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงเทรนด์เรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนในปัจจุบันและเทคโนโลยีที่ตอบรับ Net Zero ว่า "ในปัจจุบันนี้ ถ้าเรามองเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอน
ไดออกไซด์ (Carbon Emission) ในภาพรวม จะพบว่าหลัก ๆ แล้วมาจาก 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุดคือเทคโนโลยีในอดีตที่ยังใช้งานมาถึงปัจจุบันสำหรับการผลิตพลังงาน รองลงมาคือกลุ่มภาคอุตสาหกรรมทั้งหลายที่ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และกลุ่มที่สามคือภาคคมนาคม สำหรับในส่วนของเทคโนโลยี ถ้าเรามองไปที่เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตพลังงาน (ในประเทศไทย) จะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เพราะเริ่มมีการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งหน่วยงานรัฐของไทยต่างก็ผลักดันเทคโนโลยีเรื่องความยั่งยืนไปในทิศทางเดียวกัน โดยเทคโนโลยีกรีนกลุ่มแรก ๆ คือกลุ่ม Smart PV ที่มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ทั้งในระดับโรงไฟฟ้าและภาคครัวเรือน ในขณะเดียวกันก็ยังมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก เทคโนโลยีกรีนที่มีความสำคัญเป็นกลุ่มที่สองคือเทคโนโลยีสมาร์ทกริด ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการนำพลังงานไปใช้อย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเทคโนโลยีกรีนกลุ่มที่สามคือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความชาญฉลาดเข้ามาเพื่อใช้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการทำงาน ผ่านการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล รวมถึงการนำมาสร้างพลังงานใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ"
เขาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมีสัดส่วนในการผลิตคาร์บอนฟุตปริ้นท์เพียงแค่ประมาณ 2% จากภาพรวมทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกันกลับมีบทบาทในการช่วยลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ให้กับภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้มากถึง 15-20% โดยอุตสาหกรรมไอซีทีน่าจะช่วยผลักดันให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับอุตสาหกรรมได้มากถึง 12,100 ตัน ภายในปี ค.ศ. 2030
"ปัจจัยหลักในการผลักดันเรื่องกรีนเทคโนโลยีจะมาจาก 3 ส่วน ปัจจัยแรกคือนโยบายจากภาครัฐที่ผลักดันตามมาตรฐานใหม่ของ Net Zero และเร่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงวิธีการผลิตพลังงานในภาคเอกชน ปัจจัยที่สองคือเงินทุน โดยเราได้เห็นเงินทุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสำหรับสนับสนุนด้านกรีน เช่น การปล่อยเงินกู้จากภาคธนาคารสำหรับโซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์ หรือการจัดเตรียมงบประมาณสำหรับการปรับเปลี่ยนไปสู่บริษัทสีเขียวของภาคองค์กร เป็นต้น และปัจจัยที่สามคือปัจจัยที่เกี่ยวกับธุรกิจทั้งหลาย ซึ่งมีแรงกดดันทั้งจากปัจจัยภายนอกของตลาด ประเด็นเรื่องคาร์บอนเครดิต หรือการตกลงกันระหว่างธุรกิจ" ดร. ชวพล กล่าวเสริม
ในด้านเทคโนโลยีหลักของหัวเว่ยที่มีส่วนช่วยเรื่องการลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์โดยตรง ประกอบด้วย เทคโนโลยีคลาวด์และโซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์ Smart PV ทั้งนี้ เทคโนโลยีคลาวด์สามารถนำมาใช้เพื่อปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานและวิธีการเข้าถึงตลาด ซึ่งจะช่วยลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ของเทคโนโลยีที่ใช้ รวมถึงการประกอบธุรกิจในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ เทรนด์เรื่องการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นก็มีส่วนช่วยผลักดันเทคโนโลยีคลาวด์ในประเทศไทยและยังมีส่วนช่วยดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศอีกด้วย โดยหัวเว่ยได้ลงทุนด้านกรีน ดาต้าเซ็นเตอร์เพื่อให้บริการด้านคลาวด์ในประเทศไทยถึง 3 แห่ง และยังได้ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ทั้งในระดับโลกและในประเทศไทยเพื่อสร้างอีโคซิสเต็มด้านคลาวด์ที่แข็งแกร่ง รวมทั้งสร้างความแตกต่างที่ชัดเจนในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
สำหรับเทคโนโลยี Smart PV ของหัวเว่ยคือ เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์เรื่องการสร้างพลังงานสะอาดโดยตรง จะเห็นได้ว่าแทบทุกภาคอุตสาหกรรมกำลังปรับตัวใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ในระดับครัวเรือนโครงการใหม่ ๆ ที่เริ่มมีการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น โดยหัวเว่ยได้นำเสนอโซลูชัน 1+4+X FusionSolar ที่ให้ความสำคัญกับทั้งเรื่องการจัดเก็บพลังงาน การนำไปใช้งาน และความปลอดภัยในการใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของหัวเว่ย คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2022 เพื่อทำให้เทคโนโลยีของหัวเว่ยมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในการลดคาร์บอน
ฟุตปริ้นท์ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ หัวเว่ยมองว่าองค์ประกอบสำคัญในการมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนคือ เทคโนโลยี ความสามารถของคน รวมถึงการเน้นเรื่องการนำความอัจฉริยะเข้ามาใช้ในภาคธุรกิจเพื่อปรับตัวรับกับความยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็ยังมีศักยภาพในการแข่งขันและสามารถมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างควบคู่กัน สำหรับในประเทศไทย ภาครัฐก็สนับสนุนในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นอย่างดี และภาคเอกชนก็ให้ความสำคัญกับเทรนด์นี้อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งหัวเว่ยก็ให้ความสำคัญกับการลงทุนเรื่องเทคโนโลยีที่สนับสนุนเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย สอดคล้องกับพันธกิจที่ว่า "เติบโตในประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประเทศไทย"