นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กทม.กล่าวกรณีชาวชุมชนอินทามระ 3-โชคชัยร่วมมิตร มีข้อกังวลและคัดค้านการขีดแนวเขตทางถนนสาย ก. ตามร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) อาจเอื้อประโยชน์ให้นายทุนก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยรวมว่า แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและการขนส่งในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) กำหนดให้ถนนโครงการสาย ก 11 เป็นถนนเดิมขยายเขตทางและถนนโครงการกำหนดให้ก่อสร้างใหม่ให้มีขนาดเขตทางกว้าง 12 เมตร (เดิมเขตทางกว้างประมาณ 6 เมตร) ระยะทางประมาณ 840 เมตร เชื่อมต่อระหว่างซอยวิภาวดีรังสิต 16 และซอยอินทามระ 37 โดยถนนโครงการดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นใหม่ในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งแนวเส้นทางที่จำเป็นต้องก่อสร้างใหม่มีระยะทางประมาณ 60 เมตร ช่วงข้ามคลองบางซื่อ เพื่อเชื่อมต่อระหว่างซอยวิภาวดีรังสิต 16 และซอยอินทามระ 37 เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ปิดล้อมในเขตจตุจักรตอนบนกับเขตดินแดงตอนล่าง และสามารถเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้สะดวกโดยไม่ต้องเดินทางผ่านถนนสายหลัก ทั้งนี้ การกำหนดแนวถนนโครงการดังกล่าวจัดทำขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้ทราบแนวนโยบายในระยะยาวของทางราชการที่จะจัดให้มีโครงการคมนาคมและการขนส่งในพื้นที่ตามหลักสถาปัตยกรรมและการผังเมือง และมุ่งกำหนดให้ประชาชนที่จะพัฒนาที่ดิน หรือก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ให้ถอยร่นจากแนวถนนโครงการที่กำหนดไว้ แต่ยังไม่มีเป้าหมาย เพื่อการเวนคืนที่ดิน
สำหรับข้อกังวลการกำหนดถนนโครงการเส้นนี้จะเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุน เพื่อก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยรวมขนาดใหญ่นั้น การก่อสร้างอาคารดังกล่าวจะไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากถนนโครงการยังไม่ถูกก่อสร้าง จึงไม่สามารถใช้สิทธิเขตทางขนาด 12 เมตร เพื่อขออนุญาตก่อสร้างอาคารได้ ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการกำหนดถนนโครงการสาย ก 11 จึงเป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาการจราจรบนถนนสุทธิสารวินิจฉัยและแก้ปัญหาพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หากประชาชนที่ต้องการเสนอความเห็นต่อถนนโครงการสายดังกล่าว สามารถยื่นข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้มีผลเกี่ยวกับการปรับแก้ไขร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) และการรักษาสิทธิการยื่นคำร้องขอแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยสามารถยื่นด้วยตนเอง หรือส่งไปรษณีย์ไปที่ สวพ.กทม.จนถึงวันที่ 29 ก.พ.67 หรือยื่นผ่านเว็บไซต์ของ สวพ. (webportal.bangkok.go.th/cpud) โดยทุกข้อคิดเห็น กทม.จะรวบรวมและนำมาใช้เป็นข้อมูลปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและนำเสนอคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ต่อไป