SCB CIO ปรับมุมมองเป็นบวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลดลง จาก Slightly Positive (ทยอยลงทุน) เป็น Neutral (ถือไว้) หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในปี 2566 ให้ผลตอบแทน 26.29% สูงกว่าตลาดหุ้นทั่วโลก จากอนิสงค์หุ้น 7 นางฟ้าเป็นหลัก มองมูลค่าเริ่มตึงตัว นักลงทุนรับรู้ความสามารถทำกำไรที่ดีของกลุ่มเทคฯ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดไปในดัชนีฯ ค่อนข้างมากแล้ว คาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้ม Soft landing ด้านตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีหุ้น "High Quality" ที่มีศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว เป็นสัดส่วนที่มากจึงแนะนำให้รอ หาจังหวะสะสม เมื่อ Valuation ลดลง และมีระดับราคาที่ถูกลงมากกว่านี้
ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2566 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดหุ้นโลก โดยดัชนี S&P500 ให้ผลตอบแทนที่รวมส่วนต่างราคาและเงินปันผล(Total Return) อยู่ที่ 26.29% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ในขณะที่ผลตอบแทนของดัชนี MSCI ACWI และ MSCI World ในปี 2566 ซึ่งเป็นตัวแทนของดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก อยู่ที่ 22.20% และ 23.79% ตามลำดับ
ทั้งนี้ หากพิจารณาในรายละเอียด ผลตอบแทนในปี 2566 ส่วนใหญ่มาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ 1) การปรับตัวเพิ่มขึ้นของหุ้นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ 7 บริษัท ที่ถูกเรียกว่าเป็น "หุ้น 7 นางฟ้า" ได้แก่ Apple, Amazon, Alphabet, NVIDIA, Meta, Microsoft และ Tesla โดยหุ้นกลุ่มนี้ ให้ผลตอบแทนรวม 78.09% คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ผลตอบแทนที่ทำให้ (% Return Contribution) กับ S&P500 ที่ 15.32% หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลตอบแทน S&P500 ทั้งปี และหากไม่นับรวม 7 บริษัทขนาดใหญ่ บริษัทจดทะเบียนอื่นๆ ใน S&P500 ให้ผลตอบแทน 12.30% หรือคิดเป็น % Return Contribution ให้ S&P500 รวมกัน 10.97% เท่านั้น 2) ตลาดปรับตัวขึ้นแบบกระจายตัวทั้งตลาด แค่ช่วงไตรมาสที่ 4/2566 สาเหตุหลักมาจาก Fed ส่งสัญญาณผ่อนคลายการปรับดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ลดลงอย่างรวดเร็วและดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีหุ้นเทคโนโลยี ที่เติบโตโดดเด่น แต่ SCB CIO เริ่มมีมุมมองเป็นบวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ น้อยลง โดยเราคาดว่า การเติบโตของ GDP สหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วง "soft landing" หรือชะลอตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยอัตราการเติบของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในไตรมาส 3/2566 และจะเริ่มเติบโตในอัตราที่ช้าลง นับตั้งแต่ ไตรมาส 4/2566 - ไตรมาส 2/2567 ก่อนจะกลับมาเร่งตัวอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ขณะที่ นักวิเคราะห์เริ่มปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนในระยะถัดไปลง หลังผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มให้มุมมองเป็นลบ (Negative Guidance) มากขึ้น
นอกจากนี้ มูลค่าเริ่มตึงตัว เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตในปี 2567 และ การปรับปรุงมูลค่าใหม่ (Re-rating Valuation) มีความเป็นไปได้จำกัด เราตั้งข้อสังเกตว่า นักวิเคราะห์ที่ให้ราคาเป้าหมายระดับสูง ประมาณการ การเติบโตของกำไรต่อหน่วย (EPS) ของ S&P500 เฉลี่ยที่ 8.6% และ ให้ราคา 12-Month Forward Price-to-Earnings เฉลี่ย ที่ระดับ 21.1 เท่า ซึ่งเรามองว่าเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ขณะที่ การประเมินราคา และอารมณ์ของตลาด (Pricing & Market Sentiment) เข้าสู่โซน "Greed" คือ เปิดรับความเสี่ยงจากความคาดหวังที่สูง
ขณะที่ กิจการที่มีความสามารถทำกำไรดี ถูกให้มูลค่า "Premium" พอสมควรแล้ว โดยในปี 2566 ตลาดคาดการณ์กำไร S&P500 จะไม่เติบโตเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) แต่จะเห็นการเติบโตที่กระจุกตัวอยู่ในหุ้นกลุ่ม Quality Growth อย่าง "หุ้น 7 นางฟ้า" ที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นถึง 33%YoY ขณะที่ S&P 500 คาดว่าจะมีการเติบโตของกำไรอยู่ในช่วง 0-1%YoY อย่างไรก็ตาม นักลงทุนส่วนใหญ่รับรู้ความสามารถในการทำกำไรที่ดีกว่าของกลุ่มบริษัทนี้ไปพอสมควรแล้ว เห็นได้จากการกระจุกตัวของมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap.) กลุ่มหุ้นเทคโนโลยี เทียบกับ S&P500 ที่สะท้อนว่าตลาดให้มูลค่า Premium ของกลุ่มอุตสาหกรรมในระดับใกล้เคียงกับในช่วงฟองสบู่ดอทคอม หรือ Tech Bubble ปี 2543
ดร.กำพล กล่าวว่า จากเหตุผลทั้งหมดนี้ เราจึงปรับคำแนะนำตลาดหุ้นสหรัฐฯ จาก Slightly Positive (ทยอยลงทุน) เป็น Neutral (ถือ) เนื่องจาก Valuation มีความตึงตัวมากขึ้น และโอกาสการปรับตัวขึ้น (upside) จำกัดมากขึ้นหลังดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในระยะเวลา 9 สัปดาห์สุดท้ายของปี 2566 ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บ่งชี้ว่า นักลงทุนได้ Pricing การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ไปในดัชนีฯ ค่อนข้างมากแล้ว โดยคาดว่าจะลดประมาณ 6 ครั้งในปี 2567 จากการคาดการณ์ของตลาด ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐฯ ในมุมมองของ SCB CIO ยังมองว่า Fed จะลดดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 3/2567 ทั้งหมด 3 ครั้งในปี 2567 ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในระยะสั้น มีโอกาสเผชิญความเสี่ยงของการปรับฐาน หากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ไม่เป็นไปตามตลาดคาด หรือ การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาด
อย่างไรก็ตาม เรายังมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้ม Soft landing และตลาดแรงงานจะยังคงแข็งแกร่ง ด้วยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีองค์ประกอบของหุ้น "High Quality" ที่มีศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว เป็นสัดส่วนที่มาก เราจึงแนะนำให้รอโอกาส หาจังหวะสะสม เมื่อ Valuation ตึงตัวลดลง และมีระดับราคาที่ถูกลงมากกว่านี้