เอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวทแบงก์กิ้ง ("HSBC GPB") คาดธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในเดือนมิถุนายน 2567 และทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่การฟื้นตัวของกำไรของภาคธุรกิจและการเติบโตที่แข็งแกร่งในเอเชียสร้างความเชื่อมั่นในสินทรัพย์เสี่ยงและทำให้มีแนวโน้มการลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ทั่วโลกที่ดีขึ้นในปี 2567
ทั้งนี้ ในครึ่งปีแรกของปี 67 เอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวทแบงก์กิ้ง วางแผนใช้แนวทางการลงทุนที่มีความเสี่ยงระดับปานกลาง ลดปริมาณเงินสดให้น้อยลง เพิ่มการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และพันธบัตรโลก (Investment grade) และปรับเพิ่มกองทุนประเภทเฮดจ์ฟันด์ให้สอดคล้องกับตลาด ในขณะที่ยังคงรักษามุมมองที่เป็นกลางต่อกองทุนในกลุ่ม Global Equities ทั่วโลกด้วยการเพิ่มน้ำหนักให้กับตราสารทุนของสหรัฐฯ รวมถึงตลาดเกิดใหม่ในเอเชียและละตินอเมริกามากขึ้นอีกเล็กน้อย สำหรับหุ้นในเอเชียที่ไม่รวมญี่ปุ่น HSBC GPB ให้ความสำคัญกับประเทศที่คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจึงจัดสรรการลงทุนสูงขึ้นในอินเดีย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ แต่ก็ยังคงน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธุรกิจในภาคบริการของจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงเอาไว้ ตลอดจนยังมีความเชื่อมั่นในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากยังมีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและส่วนต่างในการเติบโตอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินที่มั่นคงในช่วงที่สถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ยังมีความไม่แน่นอน
ปรับพอร์ตเพื่อรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ การเปลี่ยนทิศทางด้านนโยบายทางการเงินของเฟด และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในเอเชีย
"ในอนาคตของปี 2567 ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อตลาดการเงินโลก คือ ธนาคารกลางส่วนใหญ่ของฝั่งตะวันตกยุติการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้วหลังภาวะเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังชะลอตัวเข้าสู่ภาวะซอฟต์แลนดิ้ง ซึ่งทั้งสองปัจจัยน่าจะทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนในปี 2567 อยู่ในระดับที่นักลงทุนยอมรับได้ การเตรียมพร้อมรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้าลงแต่เป็นไปในทิศทางบวกและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่จะเริ่มในเดือนมิถุนายน 2567 รวมถึงการนำเงินสดไปลงทุนในพันธบัตรคุณภาพดี หุ้นของสหรัฐฯ และเอเชีย และทางเลือกอื่นๆ น่าจะเป็นแหล่งผลตอบแทนและรายได้ที่หลากหลาย ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของพอร์ตการลงทุนและลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดได้" นางฟาน ชุค วาน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนประจำภูมิภาคเอเชีย เอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวทแบงก์กิ้งแอนด์เวลธ์ เผย
"เรามองว่าตราสารหนี้ในกลุ่มอันดับเครดิตน่าลงทุนเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยกลยุทธ์ของเรา คือ การมุ่งเน้นล็อกผลตอบแทนที่น่าดึงดูดจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร รวมถึงพันธบัตรที่มีคุณภาพ (Investment grade) ทั้งในตลาดที่พัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ ในขณะที่การเติบโตทั่วโลกน่าจะชะลอตัวในปี 2567 แต่ก็ยังมีปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของสหรัฐฯ เนื่องจากการบริโภคของชาวอเมริกันมีการฟื้นตัวที่ดี และรัฐบาลก็ให้การสนับสนุนทั้งการลงทุนและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและการดูแลสุขภาพ มูลค่าหุ้นจึงมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นจากการฟื้นตัวของรายได้ที่เราคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2567 ซึ่งอาจหมายถึงข่าวดีสำหรับหุ้นที่มีผลประกอบการตามที่คาด นอกจากนี้ เรายังมองว่าการลงทุนในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั่วโลกจะยังคงเติบโตรวดเร็วได้ต่อไปในปี 2567 และมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับภาคเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ทั่วโลก ทั้งในสหรัฐฯ และเอเชีย" นางฟานกล่าว
"แม้ทั่วโลกต้องรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจแต่เอเชียก็ยังมน่าสนใจ เนื่องจากความมั่งคั่งของกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางเริ่มฟื้นตัว อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงสู่เทคโนโลยีดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยภายในประเทศที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี เราคาดว่าจีดีพีของเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นจะเติบโตร้อยละ 4.5 ในปี 2567 นี้ หรือเกือบสองเท่าของอัตราการเติบโตเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 2.4 โดยคาดว่าอินเดียจะมีการเติบโตมากสุดที่ร้อยละ 6 ตามด้วยอินโดนีเซียที่ร้อยละ 5.2 และจีนที่ร้อยละ 4.9 โดยเราจะให้ความสำคัญกับตลาดเอเชียที่มีโมเมนตัมเชิงบวกและมีการเติบโตเชิงโครงสร้างที่แข็งแกร่ง ซึ่งอินเดียและอินโดนีเซียมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เนื่องจากทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์จากความหลากหลายของห่วงโซ่อุปทาน มีผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางและประชากรที่เป็นคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น และมีการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) จำนวนมาก" นางฟานกล่าวเสริม
สิ่งสำคัญ 4 ประการสำหรับการลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2567
"เราเชื่อว่ายังมีโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจมากมายทั่วโลกแม้ว่าสภาวะตลาดลงทุนจะมีความซับซ้อนก็ตาม และเราได้สรุปเทรนด์การลงทุนที่สำคัญ 5 ประการที่กำลังกำหนดรูปแบบของโลกยุคใหม่ การทำความเข้าใจแรงผลักดันของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาวเหล่านี้ให้ดีขึ้นจะช่วยให้นักลงทุนไม่ติดกับดักจากสภาวะตลาดที่ผันผวนขึ้นๆ ลงๆ ในระยะสั้น" นางฟานกล่าวเสริม
โดยนางฟานระบุ 5 เทรนด์สำคัญที่ควรรู้ เพื่อเข้าถึงโอกาสในการลงทุนในปี 2567 เอาไว้ดังนี้:
แนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทยปี 2567
นายเจมส์ เชียว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย เอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวทแบงก์กิ้งแอนด์เวลธ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยน่าจะเติบโตแข็งแกร่งมากขึ้นในปี 2567 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยการเติบโตนี้มาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลของรัฐบาล และการฟื้นตัวของการค้าขายทั่วโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ เพราะแม้ว่าการท่องเที่ยวของจีนจะชะลอตัวแต่นโยบายฟรีวีซ่าก็น่าจะกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ เราคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีการเติบโตของจีดีพีที่ร้อยละ 3.8 ในปี 2567 ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว" นายเชียวกล่าว
"สำหรับตลาดหุ้นไทย ผลประกอบการโดยรวมคาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ยังต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย โดยมีมูลค่าการซื้อขายในตลาดตราสารทุนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นในตลาดโลกและการขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติอาจเป็นอุปสรรคที่ฉุดรั้งตลาดได้ เราจึงค่อนข้างระมัดระวังต่อการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในตลาดไทย ณ เวลานี้"
"ในปี 2567 เราคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยจะอยู่ในระดับต่ำและสามารถควบคุมได้ แต่หากราคาอาหารสูงขึ้นก็อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นได้ เราเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.5 ตลอดระยะเวลาที่เหลือของปี 2567 และเงินบาทน่าจะทรงตัวอยู่ที่ 34.2 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในช่วงสิ้นปี 2567" นายเชียวกล่าว
เทรนด์สำหรับเอเชียในระเบียบโลกใหม่ - ธีมการลงทุนไตรมาสแรกของปี 2567
HSBC GPB ขอแนะนำ 4 ธีมการลงทุนเพื่อโอกาสที่ดีที่สุดในการสร้างผลตอบแทนในเอเชีย
"อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีโอกาสในการลงทุนและการเติบโตที่ดีที่สุดในเอเชียเนื่องจากมีประชากรรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโต มีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว และมีการบริโภคของภาคเอกชนที่แข็งแกร่งเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ นอกจากนี้อินโดนีเซียยังได้รับประโยชน์จากการยกระดับห่วงโซ่คุณค่าการผลิตด้วย แร่ธาตุและโลหะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่มากมายในอินโดนีเซียมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และแบตเตอรี่ โดยอินโดนีเซียมีปริมาณสำรองนิกเกิลมากที่สุดในโลก หรือประมาณ 21 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 22 ของปริมาณสำรองนิกเกิลทั่วโลก" นายเชียวกล่าว
"ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่มีอัตราเงินเฟ้อลดลง และในปี 2567 อัตราเงินเฟ้อในประเทศเหล่านี้น่าจะกลับมาสู่ระดับเป้าหมายที่ธนาคารกลางกำหนดได้ ซึ่งถือว่าเร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ เราคาดว่าอัตราดอกเบี้ยในเอเชียกำลังจะถึงจุดสูงสุดและคาดการณ์ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในออสเตรเลีย จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ในปี 2567 จะเอื้ออำนวยต่อการลงทุนในตลาดตราสารหนี้เอเชียในหลังจากนี้เป็นต้นไป" นายเชียวกล่าวปิดท้าย