โรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล โรงงานอุตสาหกรรม : ต้นตอฝุ่นพิษที่ถูกลืม ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคประชาสังคมเสนอรัฐบาลจัดการกับผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ และผ่านกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและ เคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR)
ภาคประชาสังคมนำโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENet) Thai Climate Justice for All (TCJA) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) เปิดเวทีสาธารณะที่ SEA Junction หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอข้อมูลและบทเรียนจากเมืองใหญ่ในไทยและต่างประเทศ ผลสำรวจแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศขนาดใหญ่จากอุตสาหกรรมที่ถูกละเลย และข้อเสนอทางออกจากวิกฤต
วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENet) กล่าวว่า "เมื่อเกิดวิกฤตฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ เรามักจะพุ่งเป้าไปที่รถยนต์เป็นหลัก แต่แหล่งกำเนิดของฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ใช่แค่นั้น พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแหล่งกำเนิดฝุ่นและคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดใหญ่ คือโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล โรงกลั่นน้ำมันที่มีกำลังผลิตสูงมาก ซึ่งปล่อยฝุ่นมากกว่ารถยนต์หลายเท่า การต่อกรกับวิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 ได้จริงจะต้องจัดการกับผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ดังกล่าว"
วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ยกกรณีแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศขนาดใหญ่คือ โรงกลั่นน้ำมันบางจากซึ่งเป็นโรงกลั่นแบบ Complex Refinery กำลังการผลิตสูงสุด 120,000 บาร์เรลต่อวันและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 900,000 ตัน และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งปัจจุบันมีกำลังผลิตรวม 1,930 เมกะวัตต์ และมีแผนจะขยายเพิ่มรวมทั้งสิ้นเป็น 4,519.4 เมกะวัตต์ในปี 2569-2570 ซึ่งเมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วจะปล่อยฝุ่นละอองสู่บรรยากาศวันละกว่า 4.6 ตัน และปล่อยออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) มากกว่า 6.4 ตันต่อวัน
การปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ในบรรยากาศนำไปสู่การก่อตัวของ PM2.5 และโอโซน ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนทั่วโลก โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจและความเสียหายต่อปอดหากรับเข้าไปแบบเฉียบพลัน และเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเรื้อรังหากรับเข้าไปในระยะยาว (Long-term exposure) ซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกิดขึ้นทั่วโลกในสหภาพยุโรป การรับเอา NO2 เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 75,000 คนต่อปีในจีน มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นโดยระบุว่า ผลจากการสัมผัส NO2 นำไปสู่การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของการเสียชีวิตจากโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจ
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า "ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ที่ปล่อยจากแหล่งกำเนิดอย่างโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลนั้นมีศักยภาพสูงในการก่อตัวของมลพิษขั้นทุติยภูมิ(secondary pollutants) รวมถึงฝุ่นพิษ PM2.5 ในบรรยากาศของกรุงเทพฯ และปริมณฑล การติดตามตรวจสอบและลดการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์จึงมีความสำคัญ นอกเหนือจากการที่สาธารณชนต้องเข้าถึงรายงานการวัดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ที่ปลายปล่องแล้ว มีความจำเป็นเร่งด่วนในการทำให้มาตรฐานการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์เข้มงวดมากขึ้น"
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า "การศึกษาของมูลนิธิบูรณะนิเวศในจังหวัดสมุทรสาครเมื่อปี 2564 พบว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นพิษ PM2.5 เมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งกำเนิดจากภาคการจราจรและขนส่ง การเผาขยะมูลฝอย และการเผาในที่โล่ง โดยพื้นที่วิกฤตที่มีการปลดปล่อยสูงสุดคือ อ.เมืองสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมหนาแน่นและเป็นหนึ่งในปริมณฑลสำคัญของกรุงเทพฯ มูลนิธิฯ ยังได้มีการรวบรวมข้อมูลจำนวนโรงงานในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล โดยอ้างอิงข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเมื่อปี 2560 พบว่า มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม 13,272 แห่งที่เป็นแหล่งก่อมลพิษทางอากาศ"
การศึกษาของมูลนิธิบูรณะนิเวศยังได้เจาะลึกถึงสารโลหะหนัก (Heavy metal) และสารมลพิษตกค้างยาวนาน (สาร POPs) ในองค์ประกอบของฝุ่น PM2.5 พบว่า การปนเปื้อนของสารมลพิษอันตรายทั้งโลหะหนักและสารมลพิษตกค้างยาวนานนั้นเกินค่าที่ปลอดภัยที่ต่างประเทศกำหนดไว้ถึงกว่า 20 เท่า อีกทั้งยังสูงกว่าผลการวิเคราะห์ปริมาณสารไดออกซินในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2555มากกว่า 4-5 เท่า ซึ่งสารทั้งสองกลุ่มนี้มีอันตรายต่อสุขภาพสูง
มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENet) Thai Climate Justice for All(TCJA) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLaw) และกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) มีข้อเสนอต่อหน่วยงานรัฐดังต่อไปนี้
มาตรการเฉพาะสำหรับโรงกลั่นน้ำมันและโรงไฟฟ้าในเขต กทม.
- วางแผนการเดินเครื่องและการซ่อมบำรุงประจำปี ให้สอดคล้องกับการคาดการณ์สภาพอากาศ เช่น การหยุดซ่อมบำรุงประจำปี 45 วัน เป็นช่วงเดียวกับฤดูที่มีวิกฤติฝุ่น
- ติดตั้งเทคโนโลยี WGS (wet gas scrubber) ที่ FCCU กรณีโรงกลั่นบางจาก
- ติดตั้งเทคโนโลยีระบบควบแน่นและระบบกรองที่ระบบไอเสียก่อนปล่อยออกสู่บรรยากาศ กรณีโรงไฟฟ้า
มาตรการระยะสั้นเพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษให้สำเร็จ
- รัฐสภาและรัฐบาลสนับสนุน (ร่าง) พระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ?. (PRTR) ซึ่งเป็นกฎหมายโดยตรงสำหรับการตรวจสอบและลดการปล่อยมลพิษจากทุกประเภทแหล่งกำเนิดที่ประเทศพัฒนาทุกแห่งมีการบังคับใช้
- ตรวจสอบระบบการบำบัดอากาศเสียและปริมาณการปล่อยทิ้งอากาศเสียของโรงงานในเขต กทม. และปริมณฑลที่ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2549 และโรงงานที่มีกฎหมายควบคุมการปล่อยอากาศเสียเป็นการเฉพาะ ได้แก่ กิจการโรงโม่ บดหรือย่อยหิน โรงผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยเหล็ก/เหล็กกล้า โรงไฟฟ้าและโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงคัดแยก/ฝังกลบ และโรงงานรีไซเคิล
- สำหรับโรงกลั่นน้ำมัน / โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ และโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยฝุ่นมากควรมีมาตรการกำกับให้ลดหรืองดการเดินเครื่องในช่วงที่มีอากาศปิด และมี PM2.5 อยู่ในระดับวิกฤต
- ระบบการตรวจวัดฝุ่น PM2.5 ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพของภาครัฐต้องพร้อมสุ่มตรวจตลอดเวลา ที่ควรมีการสุ่มตรวจเพิ่มเติมจากการตรวจวัดปกติสำหรับโรงงานที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการในรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากข้อกำหนดของ EIA กำหนดการตรวจวัดไว้เพียงปีละสองครั้งที่ปลายปล่องระบายอากาศเสีย ซึ่งไม่ตรงกับช่วงเกิดวิกฤตการณ์ (การสุ่มตรวจวัดนี้เป็นคนละส่วนกับจุดตรวจวัดและการแสดงคุณภาพอากาศ ณ ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า)
- ชะลอและทบทวนโครงการการก่อสร้างส่วนต่อขยาย การเพิ่มกำลังผลิต หรือการทดแทนกำลังผลิตเดิมที่หมดอายุในบริเวณเดิม (หรือในเขต กทม.และปริมณฑล) อนึ่ง การทำรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA และ EHIA) ในปัจจุบันของโครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ไม่ได้คำนึงถึงช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตฝุ่นพิษ PM 2.5 แต่อย่างใด
มาตรการระยะยาว
- ย้ายแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศขนาดใหญ่ออกจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล และการนำหลักการผังเมืองมาบังคับใช้ให้เข้มข้น
- ให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ในภาพรวมของกรุงเทพฯ และปริมณฑลในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิกฤตคุณภาพอากาศ (โดยใช้ค่ามาตรฐาน PM และ AQI ที่เป็นสากล) เพื่อเป็นแม่บทในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่อไปในอนาคต
- ปรับปรุงและออกกฎหมายโดยใช้มาตรการและมาตรฐานที่เป็นสากลและได้ผล โดยมีเป้าหมายอยู่ที่คุณภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมภายใต้กติกาและวัฒนธรรมประชาธิปไตย