"อธิบดีภาสกร" ชูนโยบาย RESHAPE THE FUTURE ปรับ 3 ด้าน รับเทรนด์โลก ตอกย้ำผู้ประกอบการ "คิดถึงธุรกิจ คิดถึงดีพร้อม" คาดกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 10,000 ล้านบาท

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 18, 2024 16:06 —ThaiPR.net

"ดีพร้อม" แถลงนโยบาย ประจำปี 2567 ชูนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ภายใต้กลยุทธ์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ ปรับตัวให้ก้าวทันเศรษฐกิจยุคใหม่ (RESHAPE THE ECONOMY) ปรับเปลี่ยนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (RESHAPE THE AREA) ปรับเพิ่มการเข้าถึงโอกาส (RESHAPE THE ACCESSIBILITY) ตั้งเป้าปี 2567 สามารถส่งเสริมและพัฒนายกระดับผู้ประกอบการกว่า 18,400 ราย สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากกว่า 10,000 ล้านบาท

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ในปี 2567 ว่า ดีพร้อมมุ่งดำเนินการตามพันธกิจมาอย่างต่อเนื่องในการสร้าง ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาสมรรถนะของภาคอุตสาหกรรม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ และผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มและประสิทธิภาพกระบวนการผลิตอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การบริหารของ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้กำชับให้ดีพร้อมดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยผ่านโครงการและมาตรการต่าง ๆ อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้และสื่อสารภารกิจของดีพร้อมให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายภายใต้แนวคิด "คิดถึงธุรกิจ คิดถึงดีพร้อม" อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงและความผันผวนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรภาวะโลกเดือด ภาวะเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ และเมื่อโลกเปลี่ยนอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการก็ต้องมีการปรับเพื่อให้พร้อมรับกับอนาคต

นายภาสกร กล่าวว่า สำหรับปี 2567 ดีพร้อมมีแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม โดยได้กำหนดนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต เพื่อเป็นกรอบทิศทางการดำเนินงานที่สอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลก (Megatrends) ภายใต้ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและสังคมโลกยุคใหม่ ให้กลุ่มเป้าหมายทุกระดับสามารถยืนหยัด รับมือ และปรับตัวให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนมีศักยภาพในการแสวงหาโอกาสและผลประโยชน์จากความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านกลยุทธ์ 3 ด้าน ดังนี้

1) ปรับตัวให้ก้าวทันเศรษฐกิจยุคใหม่ (RESHAPE THE ECONOMY) ผ่านการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DIGITAL TRANSFORMATION) ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากร (People) กระบวนการผลิต (Process) การตลาด (Marketing) และผลิตภัณฑ์ (Product) รวมถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) ระบบอัตโนมัติ (Automation) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างไร้รอยต่อ การส่งเสริมเศรษฐกิจสูงวัย เศรษฐกิจสุขภาพ (AGING SOCIETY) ด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการด้าน Wellness & Healthcare ให้สอดคล้องกับผู้บริโภคในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน พร้อมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่มีส่วนช่วยสร้างเสริมสุขภาพ อาทิ อาหารแห่งอนาคต (Future Food) อาหารจากซูเปอร์ฟู้ด (Super Food) ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (Herbal Product) เพื่อรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (SOFT POWER) สนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ไทย กระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก โดยมุ่งพัฒนาให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในสาขาอาหารและแฟชั่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (DEFENCE INDUSTRY) ให้เป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยอาศัยกลไกลความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศและพัฒนาต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกต่อไป และการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (CLIMATE CHANGE) ส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ด้วยการสร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบการพร้อมรับมือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้ด้าน BCG และมาตรการสำคัญ อาทิ Thailand Taxonomy / CBAM / Carbon Credit เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ Biomass /Life Cycle Assessment /Carbon Footprint /Circular Business Model /Upcycling /Eco-labelling และด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากเส้นใยที่เป็นวัสดุชีวภาพ

2) ปรับเปลี่ยนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (RESHAPE THE AREA) ผ่านการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค (ECONOMIC CORRIDOR) ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (CWEC) และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่อุปทานให้กับสินค้าและบริการที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมเป้าหมายของแต่ละพื้นที่ รวมถึงการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการและชุมชนมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วถึง และการพัฒนาชุมชนตามแนวคิด "ชุมชนเปลี่ยน" (COMMUNITY TRANSFORMATION) ด้วยการเปลี่ยนชุมชนให้ดีพร้อมโดยบริบทของอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการพัฒนาที่ขับเคลื่อนจากชุมชน (Community-led Development) และการพัฒนาแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งชุมชนมิใช่เพียงเฉพาะราย ตลอดจนเชื่อมโยงและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต(S-Curve) เข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทในการเปลี่ยนชุมชนด้วยเครื่องมือ กระบวนการ หรือเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับระดับศักยภาพของชุมชนในแต่ละพื้นที่

3) ปรับเพิ่มการเข้าถึงโอกาส (RESHAPE THE ACCESSIBILITY) ผ่านการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (FINANCIAL INCLUSION) โดยพัฒนากลไกการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่ม SMEs ที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกันหรือหลักประกันไม่เพียงพอให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ภายใต้ความร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และสถาบันการเงินต่าง ๆ พร้อมทั้งเสริมความแข็งแกร่งทางด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการไทยผ่านเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อรูปแบบใหม่ที่สอดรับกับความต้องการของแต่ละกลุ่มและการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการเงินเบื้องต้น (Financial Literacy) การยกระดับการให้บริการ (DIPROM E-SERVICE) โดยเร่งการปฏิรูประบบการให้บริการของภาครัฐให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงการบริการของดีพร้อมผ่านระบบออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลาอย่างครบวงจร และเป็นการกระจายการให้บริการที่ครอบคลุมกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ การขยายเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) โดยเร่งเดินหน้าสร้างความร่วมมือและบูรณาการกับองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ กระชับความสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นในประเทศต่าง ๆ ในลักษณะ Local-to-Local เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย ผ่านการเชื่อมโยงกับ Big Brother การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การส่งเสริมการลงทุน การเจรจาจับคู่ธุรกิจ ตลอดจนการร่วมกันดำเนินโครงการและกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ

โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดีพร้อมมีเป้าหมายการส่งเสริมและพัฒนายกระดับผู้ประกอบการกว่า 18,400 ราย คาดจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทภายใต้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ