ครั้งแรกของไทย เปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่แห่งเทคโนโลยีพลังงาน 'แบตเตอรี่ กราฟีน' จากงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์เป็นจริงแล้ว ด้วยฝีมือคนไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ลงนามข้อตกลงความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยี (Memorandum of Agreement) กับ บจก. ซัน วิชั่น เทคโนโลยี โดยมีนายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพีธี เตรียมเปิดโรงงานหลักในฉะเชิงเทราปี 2568 กำลังการผลิต 1 - 2 GWh ต่อปี เผยจุดเด่น'แบตเตอรี่ กราฟีน' เป็นพลังงานสะอาด ชาร์จไฟฟ้ารวดเร็ว ปลอดภัยไม่ระเบิด กักเก็บพลังงานได้ยาวนาน มุ่งใช้กับรถยนต์ EV รถไฟ และอุตสาหกรรมใหม่ หนุน BCG และสังคมคาร์บอนต่ำ
รศ. ดร.คมสัน มาลีสี (Komsan Maleesee) อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล.มุ่งมั่นเป็นพลังร่วมพัฒนาประเทศไทยด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ งานวิจัย และนวัตกรรมสู่สังคมโลกอย่างไม่หยุดนิ่ง ด้วยวิสัยทัศน์ The World's Master of Innovation ผู้นำนวัตกรรมระดับโลก ทั้งนี้ สจล. โดยทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ได้คิดค้นพัฒนาต้นแบบ 'แบตเตอรี่ กราฟีน' ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยการพัฒนาแบ่งเป็น 3 เฟส คือ เฟสที่ 1) สร้างโรงงานต้นแบบผลิตกราฟีน ใน สจล. เฟสที่ 2) พัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่ กราฟีน สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และรถไฟในอนาคต ซึ่งทั้ง 2 เฟสนี้ได้สำเร็จตามเป้าหมายแล้ว และเฟสที่ 3) เรากำลังดำเนินการโดยลงนามความร่วมมือกับ บจก.ซัน วิชั่น เทคโนโลยี ในการขยายผลนำงานวิจัยของ สจล.ไปสู่การผลิตโดยบริษัทฯ สร้าง 'โรงงานผลิตแบตเตอรี่ กราฟีน' เชิงพาณิชย์ระดับอุตสาหกรรม เป็นครั้งแรกของไทย ใน 2 ระดับด้วยกัน คือ 1) สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่กราฟีน ขนาดกำลังการผลิต 1 - 2 GWh ต่อปี ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC ตั้งอยู่ที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา กำหนดเปิดในปี 2568
และ2) สร้างโรงงานระดับ Pilot Plant ขนาดกำลังการผลิต 5 - 10 MWh ต่อปี กำหนดเปิดในปี 2567 ตั้งอยู่ภายในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ กราฟีนรุ่นใหม่ๆ ซึ่งขณะนี้ได้ก่อสร้างตัวอาคารเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะนำเครื่องจักรผลิตแบตเตอรี่เข้ามาติดตั้งในเร็วๆ นี้ การลงนามความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์นี้นับเป็นอีกความภาคภูมิใจของ สจล. และเป็นก้าวสำคัญที่มั่นคงของประเทศไทยในการรองรับพลังงานทางเลือก เทคโนโลยีสะอาด การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ และเป้าหมาย Net Zero ของไทย
รศ. ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ (Chesta.Ruttanapun) หัวหน้าทีมนักวิจัยกราฟีน คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า 'กราฟีน' เป็นวัสดุนาโน มีพื้นผิวจำเพาะสูง สามารถนำไฟฟ้าและระบายความร้อนได้ดีมาก จึงเหมาะในการนำมาพัฒนาเป็นแบตเตอรี่ ที่สามารถกักเก็บประจุไฟฟ้าได้สูงและชาร์จได้รวดเร็ว ที่สำคัญยังมีความปลอดภัยสูง ไม่เกิดการระเบิดและไม่ติดไฟในขณะใช้งาน สามารถใช้กับระบบ BESS (Battery Energy Storage System) และใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าได้ หลังจากที่ สจล.ได้พัฒนาโรงงานต้นแบบผลิตกราฟีนขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยและได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี 2562 ต่อมาได้ต่อยอดพัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่กราฟีน จนประสบความสำเร็จอีกขั้น และได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติประจำปี 2566 ในปัจจุบันได้ผลักดันให้มีการสนับสนุนถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) ไปสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยการขยายผลการผลิต 'แบตเตอรี่กราฟีน' ในระดับโรงงานอุตสาหกรรม
ประโยชน์ของนวัตกรรมนี้ต่อคนไทย เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมโลก โดยทดแทนการนำเข้าแบตเตอรี่ราคาสูงจากต่างประเทศและลดปัญหาความเสี่ยงอันตรายจากแบตเตอรี่ร้อน ลุกไหม้ หรือระเบิด ส่งเสริมการใช้วัสดุกราฟีนซึ่งเป็นวัสดุแห่งอนาคตที่เราผลิตได้เองในประเทศไทยนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้ซัพพลายเชนวัสดุการเกษตร และยกระดับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง การต่อยอดการผลิต 'แบตเตอรี่กราฟีน' เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น กักเก็บพลังงาน รถยนต์ไฟฟ้า รถไฟ ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้
นายวัชรินทร์ อินเมฆ (Watcharin Inmek) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัน วิชั่น เทคโนโลยี จำกัด เปิดเผยว่า การผนึกความร่วมมือระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ ซัน วิชั่น เทคโนโลยี นับเป็นความก้าวหน้าของนวัตกรรมไทยในระดับโลก จากความเชี่ยวชาญและความเป็นเลิศในนวัตกรรมที่ สจล.ได้วิจัยและคิดค้นแบตเตอรี่กราฟีนเป็นผลสำเร็จ ซึ่งก้าวล้ำด้วยวัสดุนาโนรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ ร่วมกับคาร์บอนจากวัสดุเกษตรเหลือใช้ในประเทศ และคาร์บอนทั่วไป มาประดิษฐ์ขั้วไฟฟ้า ซึ่งสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ขณะที่ บริษัท ซัน วิชั่น เทคโนโลยี จำกัด เป็นผู้นำธุรกิจอุตสาหกรรมด้านพลังงานทดแทน โดยมีความเชี่ยวชาญการพัฒนาโครงการโซล่าเซลล์ขนาดใหญ่ อาทิ โซล่ารูฟท๊อป โซล่าฟาร์ม โซล่าโฟลทติ้ง โครงการก่อสร้างโรงงาน และโครงการ Oil and Gas ทั้งนี้เราประจักษ์ในศักยภาพของนวัตกรรมนี้จึงได้ขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี 'เทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่กราฟีนและตัวเก็บประจุยิ่งยวด' จาก สจล.โดย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Agreement)
ในการผลิตกราฟีนแบตเตอรี่ จะดำเนินการผลิตโดยคนไทย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ภายใต้ชื่อ 'SUN Graphene Battery' โดย ซันวิชั่น เทคโนโลยี จะดำเนินการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่กราฟีนระดับอุตสาหกรรม ในเขตพื้นที่ EEC ตั้งอยู่ในอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา คาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในปี 2568 และจัดสร้างโรงงานระดับ Pilot Plant ภายใน สจล. จะเริ่มการผลิตได้ในปี 2567 เพื่อร่วมกันวิจัยพัฒนา คาดว่าการนำเครื่องจักรผลิตแบตเตอรี่เข้ามาติดตั้งได้ในเร็วๆนี้ เพื่อผลิตแบตเตอรี่กราฟีน ที่มุ่งเน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสนับสนุนเกษตรกรไทย ด้วยการรับซื้อวัสดุเหลือทิ้งจากพืชผลเกษตร อาทิ เปลือกทุเรียน เปลือกมังคุด ซังข้าวโพด ไม้ไผ่ กะลามะพร้าว นำมาเผาที่อุณหภูมิ 400 - 900 องศาเซลเซียส จนได้ Pure Carbon อันเป็นส่วนผสมหลักมากกว่า 80% ในการผลิตแบตเตอรี่กราฟีน เพื่อผู้บริโภคยุคใหม่ในตลาดโลก ที่กำลังก้าวสู่ยุคแห่งพลังงานทดแทนไปด้วยกัน (Green Energy and Green Community) ดังคำกล่าวที่ว่า 'พลังงานสะอาด เพื่อชาติและอนาคต'