กทม.เตรียมพร้อมเฝ้าระวังควบคุมการระบาดโรคติดเชื้อโนโรไวรัสในช่วง ม.ค.-ก.พ. แนะ "กินร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ"

ข่าวทั่วไป Tuesday January 23, 2024 14:12 —ThaiPR.net

กทม.เตรียมพร้อมเฝ้าระวังควบคุมการระบาดโรคติดเชื้อโนโรไวรัสในช่วง ม.ค.-ก.พ. แนะ

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กล่าวกรณีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิกเตือนอาจมีการระบาดของโรคติดเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.นี้ว่า สนพ.ได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ติดตาม และตรวจประเมินสถานพยาบาลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม (Bangkok Green & Clean Hospital Plus : BKKGC+) โดยผ่านเกณฑ์การประเมินด้านสถานที่ประกอบอาหารผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้มาตรฐานสุขาภิบาลอาหารตามกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2561 พร้อมควบคุมการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ โรคติดเชื้อโนโรไวรัส รวมถึงภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยสั่งการให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัดเฝ้าระวัง รวมถึงวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรค และจัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย

ขณะเดียวกันได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและวิธีสังเกตอาการของโรค รวมทั้งแนวทางป้องกัน โดยแจ้งเตือนระวัง "โนโรไวรัส" (Norovirus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ไวรัสชนิดนี้ไม่ใช่ไวรัสตัวใหม่ พบการระบาดเป็นระยะๆ ในช่วงฤดูหนาว ติดต่อกันได้ด้วยการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไม่สุก เช่น หอย ผักผลไม้สดที่ล้างไม่สะอาด รวมทั้งสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง สัมผัสกับสิ่งของที่มีเชื้ออยู่ เช่น อาเจียน หรืออุจจาระของผู้ป่วย แล้วนำนิ้วเข้าปากโดยเฉพาะในเด็ก จึงสามารถเกิดการระบาดได้ง่ายในกลุ่มเด็กตามโรงเรียน ส่วนผู้ใหญ่มักไม่แสดงอาการ บางคนอาจมีอาการเล็กน้อย เด็กเล็กที่ภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติอาจมีอุจจาระร่วงเรื้อรังนานนับเดือนเชื้อโนโรไวรัส ก่อให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหาร หรือลำไส้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง อาจมีไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมด้วย สามารถพบผู้ป่วยได้ทุกเพศทุกวัย มักจะมีอาการภายใน 12-48 ชั่วโมง หลังจากได้รับเชื้อไวรัส ลักษณะอาการเด่นคือ ท้องเสียและอาเจียน โดยปกติผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายได้เองภายใน 2-3 วัน แต่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงโดยเฉพาะในเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ อาจก่อให้เกิดการขาดน้ำได้ ดังนั้น ควรดื่มน้ำเกลือแร่ โออาร์เอส เพื่อทดแทนการเสียน้ำและเกลือแร่ หากรักษาเบื้องต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างใกล้ชิดทันที ปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะในการกำจัดเชื้อโนโรไวรัส และยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ จะใช้วิธีรักษาตามอาการ

นอกจากนั้น ยังได้จัดให้มีระบบเฝ้าระวัง ตรวจสอบข่าวการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อโนโรไวรัสอย่างต่อเนื่อง โดยโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการยึดหลัก "กินร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ" ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด ล้างให้นานไม่น้อยกว่า 15 วินาที ก่อนรับประทานอาหาร ก่อนใช้มือหยิบอาหาร หรือหลังหยิบจับสิ่งของ หรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ รับประทานอาหารที่ยังร้อนและปรุงสุกใหม่ ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดและใช้ช้อนกลางเสมอ ดื่มน้ำสะอาด ภาชนะที่ใช้ในการรับประทานและดื่มต้องสะอาด เด็กที่ติดเชื้อท้องเสีย "โนโรไวรัส" พ่อแม่ควรงดให้ลูกไปโรงเรียน ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการทำอาหารให้ผู้อื่นรับประทาน รักษาให้หายดีก่อน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ทั้งนี้ สามารถพบแพทย์ผ่าน Telemedicine แอปพลิเคชัน "หมอ กทม." เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สนพ.กทม.โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง


แท็ก bangkok   ก.พ.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ