SCGD แถลงผลประกอบการปี 2566 กลยุทธ์แบรนด์แข็งแกร่ง ช่องทางจำหน่ายครอบคลุมอาเซียน พร้อมเติบโตทุกสถานการณ์ตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 23, 2024 17:26 —ThaiPR.net

SCGD แถลงผลประกอบการปี 2566 กลยุทธ์แบรนด์แข็งแกร่ง ช่องทางจำหน่ายครอบคลุมอาเซียน พร้อมเติบโตทุกสถานการณ์ตลาด

SCGD แถลงผลประกอบการปี 2566 กลยุทธ์แบรนด์แข็งแกร่ง ช่องทางจำหน่ายครอบคลุมอาเซียน พร้อมเติบโตทุกสถานการณ์ตลาด มั่นใจเศรษฐกิจไทย-อาเซียนฟื้นตัว เร่งเครื่องโครงการลงทุน 1.1 พันล้านเพิ่มกำลังการผลิต

บริษัทเอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD แถลงผลประกอบการไตรมาส 4 และปี 2566 กำลังซื้อในตลาดต่างประเทศ รวมไปถึงความผันผวนของตลาดอสังหาฯ ในเวียดนามและราคาพลังงาน ส่งผลต่อรายได้-กำไร มั่นใจเศรษฐกิจไทยและอาเซียนทยอยฟื้นตัว เร่งเครื่องโครงการลงทุนกระเบื้องขนาดใหญ่ราคาสูงรุกตลาดเวียดนาม 1.38 ล้านตารางเมตร เตรียมผลิตไวนิล SPC 1.8 ล้านตารางเมตรป้อนไทยกลางปี เดินหน้าจับมือพันธมิตรเสริมความแข็งแกร่งช่องทางจัดจำหน่าย ขยายโครงการลงทุนเพื่อช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน พร้อมรับมือและเติบโตทุกสถานการณ์ตลาด

นายนำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD ผู้นำธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยผลการดำเนินงานของ SCGD ไตรมาส 4 ประจำปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 6,802 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 179 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 และ 26 จากไตรมาสก่อนตามลำดับ ทั้งนี้ สอดคล้องกับความต้องการกระเบื้องเซรามิกในประเทศไทยที่ยังทรงตัวในปีที่ผ่านมา จากการที่กำลังซื้อยังกลับมาไม่เต็มที่ รวมถึงยอดขายในภูมิภาคอาเซียนที่ปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้า สืบเนื่องจากสถานการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเวียดนาม และกำลังซื้อที่หดตัวลงในประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ตลาดเซรามิกจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ตามภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมกระเบื้องเซรามิกในภูมิภาคอาเซียนที่มีสัญญาณทยอยฟื้นตัวในแต่ละประเทศ

ด้านผลประกอบการปี 2566 ซึ่งหากไม่รวมผลกระทบจากการปรับโครงสร้าง และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 28,312 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีกำไร 817 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 30 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากกำลังซื้อในตลาดต่างประเทศ รวมไปถึงความผันผวนของตลาดอสังหาฯ ในเวียดนาม ประกอบกับราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก 2566 แต่ยังมีปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิต คือ ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลงตั้งแต่ประมาณกลางปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสามารถคงราคาขายเฉลี่ยของกระเบื้องและสุขภัณฑ์ในระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนด้วย โดยรายได้หลักจากการขายปี 2566 มาจากยอดขายในประเทศไทย ทั้งธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและธุรกิจสุขภัณฑ์ จากสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เริ่มฟื้นตัว แนวโน้มนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาครัฐ

นายนำพล กล่าวว่า "SCGD มีจุดแข็งเรื่องแบรนด์สินค้าที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น COTTO, PRIME, MARIWASA และ KIA ซึ่งเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ทำให้เราเป็นผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน ด้วยส่วนแบ่งตลาดกระเบื้องเซรามิกเป็นอันดับ 1 ทั้งในไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ และครองส่วนแบ่งตลาดสุขภัณฑ์เป็นอันดับ 1 ในไทย ประกอบกับการที่บริษัทฯ มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมทั้งภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายกว่า 800 ราย ร้านค้าเครือข่ายรวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 ร้าน ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ช่องทางจัดจำหน่ายของบริษัทฯ และช่องทางออนไลน์ โดยมีตลาดส่งออกกว่า 57 ประเทศ ทำให้เรายังคงพร้อมเติบโต และคงสถานะความเป็นผู้นำธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนได้ในทุกสถานการณ์ตลาด ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังได้ดำเนินการเสริมศักยภาพผู้จัดจำหน่ายควบคู่กันไป โดยมุ่งเน้นให้มีสินค้าที่หลากหลายที่เกี่ยวกับการตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ อย่างครบวงจร เช่น Prime Group ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจกระเบื้องปูพื้นและบุผนังในประเทศเวียดนาม ร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจ บริษัท จระเข้ เวียดนาม จำกัด วางจำหน่ายสินค้านวัตกรรมกลุ่มสินค้ากาวซีเมนต์และกาวยาแนว ภายใต้แบรนด์จระเข้ ผ่านเครือข่ายร้านผู้แทนจำหน่ายของ Prime Group ที่แข็งแกร่งกว่า 120 ราย

ล่าสุด แบรนด์ COTTO จับมือ HANSGROHE และ AXOR ผู้นำนวัตกรรมด้านสุขภัณฑ์ระดับโลกสัญชาติเยอรมัน เตรียมพลิกโฉมตลาดสุขภัณฑ์ Luxury ในไทย และขยายต่อยอดไปในอาเซียนด้วย เป็นการดำเนินการตามแผนงานที่จะขยายธุรกิจสุขภัณฑ์ (Bathroom) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลัก เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน

นายนำพล กล่าวว่า "บริษัทฯ ยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพของตลาดทั้งไทยและอาเซียนแม้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว จึงเป็นโอกาสที่ต้องเร่งลงทุนปรับปรุงเครื่องจักรและเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อเตรียมไว้สำหรับรองรับความต้องการในอนาคต ตามกลยุทธ์ที่จะต่อยอดความแข็งแกร่งของธุรกิจตกแต่งพื้นผิวสู่ผู้นำในอาเซียน โดยมีเวียดนามเป็นฐานการผลิตกระเบื้องปูพื้นและบุผนังที่มีศักยภาพด้านการบริหารต้นทุนและการส่งออกในภูมิภาคอาเซียนเช่นเดียวกับประเทศไทย โดยการลงทุนในเวียดนามมีเป้าหมายที่จะขยายตลาดระดับกลาง-บน จากโครงการเพิ่มกำลังการผลิตสินค้ากลุ่ม "กระเบื้องเซรามิกพอร์ซเลน" และ กระเบื้องขนาดใหญ่ อีก 1.38 ล้านตารางเมตรต่อปี ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาขายเฉลี่ยสูงกว่ากระเบื้องทั่วไปและกำลังได้รับความนิยม โดยใช้งบลงทุนรวม 142 ล้านบาท ในการปรับปรุงเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่โรงงานในภาคกลางของประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ SCGD ยังได้รับอนุมัติโครงการลงทุนมูลค่ากว่า 693 ล้านบาท เพื่อทดแทน และเพิ่มกำลังการผลิตกระเบื้องพอร์ซเลนเป็น 9.1 ล้านตารางเมตรต่อปี ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศเวียดนาม เพื่อรุกขยายตลาดและตอบสนองความต้องการใช้สินค้ากระเบื้องพอร์ซเลนที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในช่วงปลายปี 2567"

ด้านโครงการลงทุนในประเทศไทยที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 ได้แก่ การลงทุนเพิ่มสายการผลิต "กระเบื้องไวนิล SPC" ด้วยเงินลงทุน 138 ล้านบาท โดยมีกำลังการผลิต 1.8 ล้านตารางเมตรต่อปี คาดว่าจะสามารถป้อนสินค้าเข้าสู่ตลาดในประเทศไทยได้ในช่วงกลางปีนี้ ทั้งนี้ ตลาด SPC/LVT เป็นตลาดที่ยังมีการเติบโตค่อนข้างสูงในประเทศไทย เวียดนามฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 8,000 ล้านบาทในปี 2565 และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 10,000 ล้านบาทในปี 2569 (อ้างอิงจากข้อมูล Euromonitor)

นายนำพล กล่าวว่า "บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในส่วนของโครงการลงทุนเพื่อช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานซึ่งนอกจากจะเป็นการดำเนินการตามแนวทาง ESG แล้ว ยังเป็นโครงการที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและความสามารถในการสร้างรายได้ โดยในปีที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการแล้วเสร็จ อาทิ โครงการลงทุนปรับปรุงสายการผลิตกระเบื้องขนาดใหญ่ซึ่งเริ่มเดินสายการผลิตตั้งแต่กลางปี 2566 ตั้งเป้าช่วยลดต้นทุนกว่า 40-50 ล้านบาทต่อปี โครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มเติมที่ประเทศไทยและเวียดนามประมาณ 14.3 MW คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนเพิ่มเติมได้กว่า 50 ล้านบาทต่อปี สำหรับปี 2567 นี้ บริษัทฯ ยังคงมีแผนการลงทุนและการดำเนินงานลดต้นทุนด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยจะดำเนินการติดตั้ง Hot Air Generator ต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าที่โรงงาน 3 แห่งในประเทศไทย ซึ่งหากแล้วเสร็จทั้ง 3 โครงการจะช่วยประหยัดต้นทุนพลังงานได้ประมาณ 60 -70 ล้านบาทต่อปี"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ