กรณีศึกษา "น้ำปลาตราแม่ครัว" แบรนด์น้ำปลาอายุ 70 ปี เครื่องปรุงแรร์ไอเท็มภาคอีสาน

ข่าวทั่วไป Wednesday January 24, 2024 16:23 —ThaiPR.net

กรณีศึกษา

กรณีศึกษา "น้ำปลาตราแม่ครัว"

แบรนด์น้ำปลาอายุ 70 ปี เครื่องปรุงแรร์ไอเท็มภาคอีสาน

น้ำปลาที่คนภาคอีสานรู้จักกันมายาวนานกว่า 70 ปี ถึงกับตั้งให้เป็นเครื่องปรุงแรร์ไอเท็มภาคอีสาน ที่ต้องมาภาคอีสานถึงจะเจอและซื้อได้ เนื่องจากแบรนด์นี้ไม่ได้ส่งจำหน่ายภาคอื่นๆ ด้วยรสชาติ จะมีความเค็ม ความหอมน้ำปลา ความนัว มากกว่าแบรนด์อื่น ซึ่งเป็นสูตรลับความคงเดิมของการทำน้ำปลา ทำให้การปรุงอาหารด้วยน้ำปลาแบรนด์นี้สร้างความแตกต่างให้รสชาติอาหารต่างออกไปจากน้ำปลายี่ห้ออื่นๆ

จุดเริ่มต้นของแบรนด์ "น้ำปลาตราแม่ครัว" เกิดขึ้นมาได้ยังไง?

ประวัติผู้ก่อตั้งบริษัท สินธุสมุทรนั้น จำกัด เริ่มจากเดิมเป็นตระกูลขุนนางในสมัยราชวงศ์ชิง โดยใช้ชื่อสกุลว่า "ถัง" (ภาษาแต้จิ๋วเรียก ตึ๊ง-ทัง) ภูมิลำเนาอยู่มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) จังหวัดฉาวโจว (แต้จิ๋ว) อำเภอเหยาผิง (เหยี่ยวเพ้ง) หมู่บ้านเซี่ยถังเซียง (แอ๋ตึ้งเฮีย) เป็นขุนนางทหารซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักเป็น "จิ้นซื่อ*"

ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศจีน การปกครองโดยระบอบจักรวรรดิถูกทำลาย กลายเป็นสาธารณรัฐ และถึงที่สุด พรรคคอมมิวนิสเข้าครอบครองประเทศ ตระกูลของขุนนางจึงเป็นเพียงสามัญชนทั่วไป ครอบครัวบ้านถังภายหลังการเปลี่ยนแปลง ได้ดำเนินอาชีพค้าขายเป็นต้นมา ประชาชนจีนในช่วงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง มีความอดอยากยากแค้น ทั้งสงครามภายในและภาวะสังค เศรษฐกิจที่ไม่มีความมั่นคง ทำให้ชาวจีนยุคนั้นหาทางดิ้นรน อพยพหาที่ตั้งรกรากใหม่

จากจีนแผ่นดินใหญ่ สู่สยามประเทศ

ประเทศไทยในยุคนั้นเป็นประเทศที่ชาวจีนโพ้นทะเล เลือกที่จะมาตั้งรกราก เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ และสภาพความปลอดภัย ความมั่นคง มีมากกว่าประเทศจีนซึ่งยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หนึ่งในชาวจีนอพยพนั้นรวมถึงทายาทของตระกูลถัง คือ นายถังเฉินเปี้ยน (ชื่อรอง ถังอวี้เซิน-ถังเง๊กเซีย) รู้จักในชื่อไทยว่า นายเอ้ แซ่ตึ้ง (ชื่อที่ใช้เรียกนี้เป็นภาษาท้องถิ่นแต้จิ๋ว) เดินทางมาด้วย

นายอวี้เซินเป็นบุตรชายคนที่ 3 ของตระกูล มี 5 พี่น้อง พี่ชาย 2 คน น้องสาว 2 คน พี่ชายทั้ง 2 คนเสียชีวิต เหลือเพียงน้องสาว ดังนั้น เขาจึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของบ้านถังในสมัยนั้น และเป็นความหวังของครอบครัวที่จะสร้างฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ชาวจีนในยุคนั้นต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคนาๆประการ อาทิ เป็นลูกจ้าง กรรมกร แรงงาน ฯลฯ พวกเขาส่วนใหญ่อดทน อดออม จนถึงที่สุดสามารถสร้างธุรกิจได้มั่นคงถึงปัจจุบัน

เริ่มการสร้างธุรกิจ

โรงงานน้ำปลาทั่งโก๋วฮะ ของนายถังอวี้เซิน ก่อเกิดขึ้นจากการได้ร่วมบริหารงานจากโรงงานน้ำปลาของญาติ ทำให้เกิดแรงบัลดาลใจที่จะสร้างธุรกิจของตนเอง และคิดค้นสูตรน้ำปลาเป็นของตนเอง ภายหลังจากกา ทำงานหนักอย่างอดทน และอดออม ในที่สุด นายเอ้ มีเงินทุนเริ่มดำเนินธุรกิจผลิตและขายส่งน้ำปลา เริ่มจากห้องแถวเล็กๆ หมักโดยถังไม้ ไห ต่อมาพัฒนาเป็นบ่อ ในที่สุดธุรกิจขยับขยายมีที่ดิน มีการลงทุน สร้างฐานะขึ้นมาได้ ชื่อของโรงน้ำปลาในยุคนั้นยังเป็นชื่อภาษาจีนว่า "ถัง กู่ เหอ หวี ลู่ ฉั่ง" หรือ ภาษา แต้จิ๋วว่า "ทั่ว โก๋ว ฮะ ฮื้อ โหล่ว เชี่ยง" จนสามารถสร้างแบรนด์ "ตราแม่ครัว" และเปิดโรงงานน้ำปลาได้สำเร็จ (ทุกอย่างเกิดจากความอดทน มุ่งมานะ ไม่ยอมแพ้)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ได้มีการจดทะเบียนบริษัทในชื่อภาษาไทย เป็น "บริษัท สินธุสมุทร จำกัด" โดย นายธวัชชัย ถังคบุตร (บุตรชายคนที่ 3 ของ นายอวี้เซิน) โดยความหมายมีดังนี้

"สินธุ" หมายถึง แม่น้ำสำคัญของอินเดีย เป็นแม่น้ำที่มีความเก่าแก่สายหนึ่งในโลก เป็นแหล่งรวมต้นกำเนิดแห่งอารยธรรมโบราณมากมาย คำว่าสินธุถูกผันเป็นฮินดู และในที่สุดกลายเป็นคำว่า อินเดียนั่นเอง ดังนั้นกล่าวไปแล้ว "สินธุสมุทร" ก็คือ "มหาสมุทรอินเดีย"

การตั้งชื่อของบริษัทนั้นมีเหตุคำนึงถึง 3 ปัจจัย คือ

ชื่อภาษาจีนเดิม "กู่เหอ" หมายถึง การรวบรวมความดั่งเดิม ซึ่งสอดคล้องกับ "สินธุ" แม่น้ำสายประวัติศาสตร์ที่รวมแห่งอารยธรรมโบราณ เช่น ชาวอารยัน และเผ่าพันธุ์มนุษย์โบราณมากมาย ที่สำคัญ คำนึงถึงลักษณะของธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางทะเล จึงได้เลือกชื่อที่เกี่ยวกับน้ำ และเนื่องจากโรงงานแห่งแรกตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นภาคตะวันตกของประเทศ จึงใช้ชื่อที่สอดคล้องกับทะเลตะวันตก ก็คือ มหาสมุทรอินเดีย หรือ สินธุสมุทรนั่นเอง

สินธุสมุทรในวันนี้

โรงน้ำปลาทั่งโก๋วฮะ ในปัจจุบันมีอายุ 70 กว่าปีแล้ว โดยการบริหารของกรรมการผู้จัดการคนปัจจุบันคือ คุณธวัชชัย ถังคบุตร (ทายาทและบุตรชายคนที่ 3 ของนายถังอวี้เซิน) ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมน้ำปลาแห่งประเทศไทย 2 สมัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542-2546 สินธุสมุทรในยุคปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบการจัดการต่างๆอย่างต่อเนื่อง และได้เข้าร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อสร้างมาตรฐานที่ดีในการผลิต เช่น GMP HACCP HALAL เพื่อยกระดับมาตรฐานให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

การจัดจำหน่ายในปัจจุบัน ยังคงเป็นที่นิยมอยู่ในโซนร้านค้าภาคอีสาน ซึ่งผู้บริโภคภาคอื่นๆที่ได้เคยลองใช้ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า น้ำปลาตราแม่ครัว ใช้ปรุงอาหารแล้วแซ่บนัวไม่เหมือนยี่ห้ออื่นๆ ถึงกับตั้งให้เป็นแรร์ไอเท็มเครื่องปรุงที่มาอีสานถึงจะเจอ ถึงกับถ้าแวะไปภาคอีสานเจอน้ำปลาตราแม่ครัวต้องซื้อกลับไปใช้ที่ครัวเรือนตนเอง บ้างก็ติดต่อมาที่บริษัทฯ เพื่อขอซื้อและยอมจ่ายค่าจัดส่งค่อนข้างสูง เนื่องจากนำไปใช้ปรุงอาหารที่ร้านของตนเองแล้วอร่อยถูกใจลูกค้าชื่นชอบไม่สามารถเปลี่ยนยี่ห้อน้ำปลาได้ เพราะเกรงว่ารสชาติจะเปลี่ยนไป

เราสามารถเรียนรู้อะไรได้จากเรื่องนี้

เส้นทางการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นของแบรนด์ตราแม่ครัว บอกเราอย่างหนึ่งว่า การเริ่มทำอะไร ทุกอย่างต้องมีความอดทน มุ่งมานะ ไม่ยอมแพ้ และแบรนด์จะแข็งแรงยั่งยืนได้ เพราะความใส่ใจในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ แม้ภาวะต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นในยุคสมัยนี้ น้ำปลาตราแม่ครัวก็ไม่เคยลดคุณภาพการผลิต มีแต่จะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ตามคำสอนที่นายอวี้เซินมักจะสอนบุตรหลานทายาทไว้เสมอดังนี้

1. ของกินต้องทำให้ดีให้สะอาด เพราะเราทุกคนต้องกินต้องใช้เหมือนกัน ให้เอาใจเขาใส่ใจเราเสมอ

2. ต้องมีความอดทน ขยัน ไม่กลัวลำบาก เมื่อลำบากจนเคยชินแล้ว ก็จะไม่เกรงกลัวอุปสรรคใดๆ

3. อย่าปล่อยเงินกู้ เนื่องจากเราเคยลำบากตกยากมาก่อน การปล่อยกู้เป็นการทำนาบนหลังคน ดังนั้นหากผู้ใดปล่อยเงินกู้ ผู้นั้นหาใช่ลูกหลานเรา

4. คนมาเก็บเงินค่าวัตถุดิบ เช่น ปลา เกลือ ฯลฯ ต้องรีบจ่ายเงินให้เขา อย่าเก็บไว้จนเนิ่นนาน เพราะเขาเหล่านั้นต้องนำเงินไปสร้างทุนเช่นกัน

5. ตัวเองควรมีการอดออมเพื่ออนาคต แต่อย่าตระหนี่ขี้เหนียวกับส่วนรวม เพราะถ้าส่วนรวมอยู่ไม่ได้ ตัวเราเองก็ไม่รอด

6. คนทำการค้าต้องรักษา "สัจจะ" คนที่รักษาคำพูดจะเป็นที่เชื่อถือยอมรับของทุกคน หากคนไม่รักษาสัจจะ พูดอย่างทำอย่าง ภายหน้าจะไม่มีใครเชื่อถือ

7. ความสามัคคีของพี่น้อง ดังปรัชญาบรรพบุรุษที่จารึกไว้ว่า "สามัคคีเป็นนิจจิตเป็นหนึ่ง ศึกษาซึ้งธรรมรัตน์สัจจะถัง

คำสอนที่ได้ส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น คือสิ่งที่ย้ำเตือนลูกหลานให้ทำตามเพื่อคงรักษามาตรฐานการผลิตที่ดีไว้สืบไป จุดนี้เองทำให้ผู้บริโภคในภาคอีสานยังคงเลือกใช้น้ำปลาตราแม่ครัวมาโดยตลอด

ขอบคุณข้อมูล และรูปภาพจาก

เว็บไซต์ บริษัท สินธุสมุทร จำกัด https://sindhusamut.com/th

เพจ น้ำปลาตราแม่ครัว https://www.facebook.com/maekruaTH


แท็ก ภาคอีสาน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ