นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจวิธีสังเกตอาการของโรคติดเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) ว่า สนอ.ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์รณรงค์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีสังเกตอาการของโรคติดเชื้อโนโรไวรัส และแนวทางการป้องกัน ตลอดจนการประสานความร่วมมือสถานศึกษา ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ สถานประกอบการ โดยกำชับวิธีการปฏิบัติตน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโนโรไวรัส โดยเฉพาะเน้นย้ำการรับประทานอาหารที่สดใหม่ รวมทั้งล้างมือก่อนรับประทานอาหารเป็นประจำ ทั้งนี้ โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบในระบบทางเดินอาหาร มีระยะฟักตัว 12-48 ชั่วโมงหลังจากได้รับเชื้อ ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว มีอาการคล้ายอาหารเป็นพิษ เพราะโนโรไวรัสจะปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม จึงทำให้เกิดอาการท้องเสีย หรืออาเจียน ในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อย และถ่ายเหลวเป็นน้ำ ติดต่อได้ง่ายยิ่งขึ้นในสภาพอากาศเย็นในช่วงเดือน ม.ค. - ก.พ. คนทุกช่วงวัยสามารถติดเชื้อได้ แต่เนื่องจากเด็กเล็กมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้มีอาการรุนแรงมากกว่า เช่น อาเจียนออกมาก ท้องเสีย และไม่สามารถดื่มนมได้ ส่วนผู้ใหญ่หากติดเชื้อโนโรไวรัสจะมีอาการไม่รุนแรงเท่ากับเด็ก เช่น มีอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียนเพียงเล็กน้อย ท้องเสียไม่กี่ครั้ง และสามารถหายได้เอง
อย่างไรก็ตาม เชื้อโนโรไวรัสสามารถติดต่อกันได้หลายทาง ได้แก่ การปนเปื้อนในอาหาร หรือน้ำดื่ม พบบ่อยในน้ำดื่ม น้ำแข็ง ผักผลไม้สด และหอยนางรม การสัมผัสกับสิ่งของ หรือพื้นผิวที่ปนเปื้อนแล้วนำนิ้ว หรือมือเข้าปาก การสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง อุจจาระ หรืออาเจียนของผู้ป่วย ซึ่งการวินิจฉัยเชื้อโนโรไวรัส ทำได้โดยการเก็บตัวอย่างอุจจาระ เพื่อส่งตรวจพิเศษกับห้องปฏิบัติการ หากพบว่า ติดเชื้อแพทย์จะดูแลรักษาตามอาการ หากเด็กมีภูมิต้านทานที่ดีอาการจะดีขึ้นและหายได้เองภายใน 2 - 3 วัน แต่หากเด็กเกิดการขาดน้ำ อาจทดแทนด้วยการดื่มน้ำเกลือแร่ หรือการให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด รับประทานอาหารอ่อน หรือให้ยาแก้อาเจียน หากเด็กภูมิต้านทานต่ำ มีอาการรุนแรงถึงขั้นถ่ายตลอดเวลา ต้องนำส่งโรงพยาบาลทันทีและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดภาวะช็อก ความดันเลือดต่ำ และอาจเสียชีวิตได้