ธุรกิจครอบครัว (Family Business) ถือเป็นธุรกิจสำคัญในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ศศินทร์ (Sasin School of Management) เป็นสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการและองค์ความรู้ด้านธุรกิจครอบครัว (Family Business) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาโดยตลอด ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา ศศินทร์ได้มีการจัดการแข่งขัน Family Enterprise Case Competition - Asia Pacific (FECC-AP) ขึ้นเป็นครั้งแรก และเมื่อเร็ว ๆนี้ นิสิตศศินทร์ก็เพิ่งคว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน Schlesinger Global Family Enterprise Case Competition (SG-FECC) ระดับโลกมาครอง
นายธนะโชติ วงศ์สืบชาติ Entrepreneur-in-Residence ของศูนย์บริหารจัดการความยั่งยืนและส่งเสริมผู้ประกอบการของศศินทร์ และนิสิตเก่าศศินทร์ MBA 2015 ผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดการแข่งขัน FECC-AP และนำทีมไปคว้ารางวัลระดับโลกได้สำเร็จ กล่าวถึงบทบาทการทำงานที่ศศินทร์ และการจัดการแข่งขัน Family Enterprise Case Competition - Asia Pacific (FECC-AP) ว่า "การส่งเสริมธุรกิจครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ และการแข่งขันนี้จัดขึ้นมาเพื่อให้นิสิตได้พัฒนาการเรียนรู้ด้านการดำเนินธุรกิจครอบครัวให้อย่างมีศักยภาพ โดยเน้นให้เห็นว่าธุรกิจครอบครัวต่างจากธุรกิจทั่วไปอย่างไร มีการดึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัวในมุมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจครอบครัว นิสิตที่มาร่วมการแข่งขัน หรือว่าคณะกรรมการที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจครอบครัว หรือผู้ที่เป็นมืออาชีพทางด้านบริหารในตำแหน่งต่าง ๆ ที่เคยทำงานกับธุรกิจครอบครัว หรืออาจารย์ หรือผู้เชี่ยวชาญที่สอนเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวให้มาเจอกันในงานแข่งขันนี้ เพื่อที่จะพัฒนา ส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน"
นายธนะโชติ กล่าวเพิ่มเติม "สำหรับนิสิตที่เข้าร่วมแข่งขันไม่จำเป็นต้องมาจากธุรกิจครอบครัว เพราะมีโอกาสสูงมากที่นิสิตเมื่อเรียนจบไปแล้วจะมีโอกาสไปทำงานในธุรกิจครอบครัว หรือถึงจะไม่ได้ทำงานในธุรกิจครอบครัวก็มีโอกาสที่จะต้องทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์หรือลูกค้าที่มาจากธุรกิจครอบครัวได้เหมือนกัน ซึ่งจะทำให้เห็นมุมมองต่าง ๆ ของธุรกิจครอบครัวว่าเจ้าของธุรกิจคิดอย่างไร ทำให้สามารถเข้าใจและทำงานร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น การแข่งขันนี้จะช่วยให้นิสิตค้นพบแนวทางแก้ไขปัญหาความท้าทายทางธุรกิจครอบครัว สำหรับการแข่งขันเราใช้เคสที่เกิดขึ้นจริงในธุรกิจครอบครัว ในโซนแอเชีย-แปซิฟิก นิสิตก็จะเรียนรู้จากเคสว่าธุรกิจนั้นมีปัญหาอะไรบ้าง และได้วิเคราะห์กับเพื่อนร่วมทีม เพื่อที่จะนำเสนอกับคณะกรรมการตัดสินในการแข่งขัน เพราะฉะนั้นตรงนี้จะเป็นโอกาสให้นิสิตได้คิดว่าถ้าเกิดเจอปัญหาต่าง ๆ ในเคสแบบเดียวกันนี้จะแก้ปัญหาอย่างไรและนำเสนอให้กับคณะกรรมการอย่างไร อย่างแรกเลยนิสิตได้ลองทำเคส ได้ลองวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเห็นความคล้ายกับปัญหาที่นิสิตมีในธุรกิจของครอบครัว และนำไปปรับใช้ได้ สเต็ปต่อมานิสิตจะเสนอแนวคิดให้กับคณะกรรมการ ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์สูงในการทำธุรกิจมาก่อน และหรือมาจากธุรกิจครอบครัวในตำแหน่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของหรือผู้บริหาร หรืออาจเป็นคณาจารย์ที่สอนเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว ทางคณะกรรมการเองก็จะมีคำถามกับนิสิตในรูปแบบต่าง ๆ มีคอมเมนต์เพื่อแนะนำนิสิต สุดท้ายนิสิตที่เข้าแข่งขันก็จะได้เห็นนิสิตทีมอื่น ๆ ที่ทำเคสเดียวกัน มานำเสนอ ก็จะได้เรียนรู้มุมมอง การวิเคราะห์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นงานแข่งขันจะทำให้นิสิตได้เรียนรู้หลายช่องทาง และนำไปปรับใช้กับธุรกิจที่ทำอยู่ได้ดีขึ้น จากการจัดการแข่งขัน (FECC-AP) เราจะสามารถเห็นการพัฒนาของนิสิตได้ชัดเจน นิสิตที่เข้าร่วมการแข่งขันมีความเข้าใจของธุรกิจครอบครัวมากขึ้น จากการนำเสนอเคสในวันแรกกับวันสุดท้ายของการแข่งขัน ความมั่นใจกับความสามารถในการนำเสนอ" ปี 2567 การแข่งขันจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19-22 มิถุนายน เป็นส่วนหนึ่งของงาน Sasin Impact Entrepreneurship Week 2024
การแข่งขัน FECC-AP ในปีที่ผ่านมา ซึ่งศศินทร์จัดเป็นครั้งแรก ทีม B-Rabbit นิสิตศศินทร์ชนะเลิศการแข่งขัน ซึ่งได้เข้าร่วมการแข่งขัน Schlesinger Global Family Enterprise Case Competition (SG-FECC) ที่University of Vermont ช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา สำหรับการเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ นิสิตศศินทร์คว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขัน Schlesinger Global Family Enterprise Case Competition 2024 ประเภท Graduate League ทีมประกอบด้วย คุณชวพล เลิศนวศรีชัย และคุณโซเฟีย อาจามิ อาคมธน MBA 2023 คุณกฤต วรรณพฤกษ์ นิสิต EMBA 2023 และคุณพราว ชนารัตน์ MBA 2022 โดยมีคุณธนะโชติ วงศ์สืบชาติ เป็นที่ปรึกษาทีม
Schlesinger Global Family Enterprise Case Competition (SG-FECC) เป็นการแข่งขันแผนธุรกิจครอบครัวระดับโลกซึ่งจัดตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2556 ที่ผ่านมามีผู้เข้าแข่งขันรวม 821 คนและผู้ตัดสิน 558 คนจาก 37 ประเทศ และเมื่อปีพ.ศ. 2566 การแข่งขัน SG-FECC ได้รับรางวัล International Achievement Award จาก Family Firm Institute (FFI) ซึ่งเป็นสมาคมธุรกิจครอบครัวชั้นนำระดับโลก
การแข่งขัน SG-FECC ในดือนมกราคม พ.ศ. 2567 เป็นครั้งที่ 11 ที่จัดการแข่งขัน มีทีมแข่งขัน 25 ทีมและผู้ตัดสิน 65 คนจาก 15 ประเทศจาก 5 ทวีป
นายธนะโชติ กล่าวว่า "สำหรับมุมมองของตัวเอง อุปสรรคสำคัญในการดำเนินธุรกิจครอบครัวก็เหมือนการดำเนินธุรกิจทั่ว ๆ ไปที่จะมีอุปสรรคหรือปัญหาต่าง ๆ แต่ส่วนที่แตกต่างเฉพาะเจาะจงอาจเป็นเรื่องของการนำบุคคลในครอบครัวเข้ามาช่วยธุรกิจ อาจเป็นการนำรุ่นถัด ๆ ไป หรือนำลูกหลานเข้ามาทำงานในธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหาหรืออุปสรรคอย่างแรก เช่น รุ่นลูกเพิ่งเรียนจบใหม่มาทำงาน แน่นอนว่าพนักงานจะมองว่าเป็นเจ้าของ ทั้ง ๆ ที่เข้ามาในตำแหน่งเด็กจบใหม่ junior หรือตำแหน่งพนักงานใหม่ แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีความเป็นเจ้าของ ฉะนั้นก็อาจจะมีความเกรงใจอะไรอยู่บ้าง จึงอาจเป็นอุปสรรคในการทำงานในธุรกิจครอบครัว และเมื่อถึงเวลาหนึ่ง เมื่อรุ่นแรกหรือรุ่นปัจจุบันต้องส่งต่อให้ รุ่นถัด ๆไป อาจจะเป็นอุปสรรคเพิ่มขึ้นมาอีกว่าควรจะส่งต่อให้กับลูก และควรจะเป็นลูกคนไหน หรือญาติคนไหน หรือส่งต่อให้คนนอก สุดท้ายถ้าธุรกิจเติบโตขึ้นไปอีกก็อาจจะไม่ใช่เฉพาะรุ่นพ่อ รุ่นลูก อาจขยายวงกว้างขึ้นไปถึงรุ่นหลาน ญาติๆ ที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน หลายเจนเนอเรชั่น ก็จะทำให้เกิดความซับซ้อนในความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวที่มาทำธุรกิจด้วยกันเพิ่มมากขึ้น สำหรับนิสิตที่เข้าร่วมแข่งขันดังกล่าว เชื่อว่าจะได้นำความรู้ ประสบการณ์ มุมมอง ไปใช้ในการทำงานในธุรกิจครอบครัวและธุรกิจ อื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี"