คนไทยเสียชีวิตจากมะเร็งตับเป็นอันดับ 4 ของโลก รัฐขับเคลื่อน "มะเร็งครบวงจร" ผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับระยะลุกลาม มีความก้าวหน้าในการรักษาด้วยยานวัตกรรมช่วยยืดอายุผู้ป่วย หวังนำเข้าสิทธิประโยชน์ของรัฐ
VOICE OF LIVER 2024 ฟังเสียงตับ รับมือมะเร็ง ครั้งที่ 3 จัดโดยมูลนิธิรักษ์ตับ ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน กล่าวว่า "มะเร็งเป็นโรคท้าทายของระบบสาธารณสุข เนื่องจากเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรไทย ซึ่งข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ รายงานในปี 2565 ประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ ราว 1.4 แสนคนต่อปี เสียชีวิตประมาณ 84,000 คน"
นโยบาย 30 บาทพลัส ของกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้มะเร็งครบวงจรเป็นหนึ่งในนโยบาย Quick Win โดยมีโครงการ Cancer warrior เป็นตัวคัดกรองตรวจเจอได้เร็ว เพื่อเข้าสู่การรักษาได้เร็ว ปัจจุบันมะเร็งตับมียาและเทคโนโลยีที่มีคุณภาพสูงในการรักษาแบบครบวงจร ทั้งส่งเสริม ป้องกัน คัดกรอง วินิจฉัย รักษา และประคับประคอง โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานประกันสังคม สนับสนุนในการตรวจคัดกรองให้ได้อย่างทั่วถึง
มะเร็งตับพบมากในเอเชีย
พญ.นภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์โรคมะเร็งตับในประเทศไทยว่า "พบผู้ป่วยโรคมะเร็งตับจำนวนมากในเอเชีย 73.3% จากข้อมูล GLOBOCAN WHO: Liver 2020 โดยมะเร็งตับเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น หลังจากเป็นโรคตับอักเสบบีและซี หรือการติดจากการใช้เข็มร่วมกัน โดยโรคตับอักเสบบีสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกถึง 90 % ในจำนวนนี้มีโอกาส 2 % ต่อปี ที่จะกลายเป็นโรคมะเร็งตับ ส่วนโรคตับอักเสบซีสามารถติดต่อทางเลือด มีโอกาสกลายเป็นโรคมะเร็งตับ 1-4 %ต่อปี"
ไทยเสียชีวิตจากมะเร็งตับ เป็นอันดับ 4 ของโลก
นพ. จำรัส พงษ์พิศ อายุรแพทย์ โรคระบบทางเดินอาหารและตับ รพ.หนองคาย และตัวแทนมูลนิธิรักษ์ตับ กล่าวว่า "ในประเทศไทย อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งตับสูงถึง 26,704 รายต่อปี เป็นอันดับ 4 ของโลก มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เฉลี่ยทุกๆ 1 ชั่วโมง และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในประเทศไทย เมื่อเทียบกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ มะเร็งเซลล์ตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่อโรคลุกลามไปมากแล้ว ทำให้การรักษาได้ผลไม่ดี และมีโอกาสหายต่ำ การพิจรณายารักษาโรคมะเร็งเซลล์ตับเป็นภาวะเร่งด่วนจึงอยากให้ทุกภาคส่วนร่วมกันหารือ เพื่อสิทธิประโยชน์ชองคนไทย"
ยานวัตกรรมรักษามะเร็งเซลล์ตับระยะลุกลาม
พ.อ.ผศ.นพ.ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา รพ.พระมงกุฎเกล้าและหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคมะเร็ง รพ.พระมงกุฏเกล้า อธิบายถึงการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับว่า "ผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับระยะลุกลาม จำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยา ได้แก่ 1. ยามุ่งเป้า ทำหน้าที่ไปยับยั้งไม่ให้มีการแบ่งตัว มีอัตรารอดชีวิตราว 10-13 เดือน 2. ยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัดร่วมกับยาต้านการสร้างหลอดเลือด เป็นยาฉีด มีอัตรารอดชีวิตราว 19.2 เดือนในผู้ป่วยทั่วโลก และ 24 เดือนในผู้ป่วยในประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาดังกล่าว บรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ"
ยกระดับสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับ
วีรยุทธ ยอดคำ ผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับระยะลุกลาม เผยว่า "ผมป่วยมาตั้งแต่ปี 2562 คุณหมอแนะนำให้รักษาด้วยการรับประทานยาต้านไวรัสแล้วค่อยใช้ยาพุ่งเป้ารักษามะเร็งอีกที เพราะเคสผมเป็นระยะลุกลาม เนื่องจากเป็นไวรัสตับอักเสบซี ผมรับประทานยาเม็ดได้ประมาณ 2-3 เดือน แล้วเกิดอาการข้างเคียงเยอะมาก มือเท้าแตก จับอะไรนิดหน่อยเป็นแผลแตกหมดเลย ใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างลำบากจึงขอเปลี่ยนเป็นยาตัวอื่น และได้รับยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัดร่วมกับยาต้านการสร้างหลอดเลือด พบว่าดีขึ้น ไม่มีผลข้างเคียง และน้ำหนักเพิ่มขึ้น จากตอนแรกที่คิดว่าตัวเองคงไม่รอด ปัจจุบันผมพบหมอทุกๆ 3 สัปดาห์ เพื่อมารับยา แต่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เพราะยาไม่ได้อยู่ในสิทธิ์รักษา 30 บาท"
ด้านนพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ยารักษามะเร็ง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ควรจะได้รับ ซึ่งบทบาทหน้าที่ของสปสช. ทำให้คนไทยทุกคนและทุกสิทธิได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน
"การจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ ตัวยาใหม่ๆ เข้ามาทดแทนยาเดิม ภายใต้มติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า หากมียาตัวใดที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงจากยาเดิม หรือลดลงจากยาเดิมได้ ยานั้นก็สามารถเข้ามาทดแทนได้เลย โดยไม่ต้องรอให้บรรจุเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติก่อน เพราะอาจจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี" นพ. จักรกริชกล่าว
ขณะที่ ศ.นพ.พิสิฐ ตั้งกิจวานิชย์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคตับอักเสบและมะเร็งตับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย เสนอว่า "แม้อยากรักษาทุกคน แต่ยังทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น หากพิจารณาเลือกคนที่เหมาะสมที่จะรับยารักษาในระยะลุกลามก่อน เช่น คนที่ได้ผลดี มีอายุที่ยืนยาวกว่า เป็นต้น เพื่อให้เข้าถึงการรักษาทั่วถึง คนได้ประโยชน์สูงสุด ภายใต้การหารือของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังมีการศึกษาข้อมูลการใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดในประเทศไทยพบว่าข้อมูลด้านประสิทธิภาพของคนไทยไม่แตกต่างจากข้อมูลการศึกษาของทั่วโลก"
การจัดงานครั้งนี้ สนับสนุนโดย โรช ไทยแลนด์ หนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านการดูแลสุขภาพของไทยที่ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง