วันที่ 23 มกราคม 2567 การที่ในอดีตประเทศไทยถูกมองจากนานาอารยประเทศว่าเป็นประเทศที่มีการทารุณกรรมสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า สัตว์เศรษฐกิจ หรือสัตว์เพื่อการทดลอง ซึ่งมักจะพบเห็นข่าวจากสื่อมวลชนทั่วไป เช่น การบริโภคดีงู อุ้งตีนหมี หรือแม้แต่เนื้อสุนัขมาปรุงเป็นอาหาร ซึ่งมีการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่เสมอ ข่าวเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลกถึงสถานการณ์การทารุณกรรมสัตว์ในประเทศไทย จนทำให้นานาอารยประเทศถือเป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น กรณีลิงเก็บมะพร้าว แต่จากข้อกล่าวหาเหตุการณ์เหล่านี้คงต้องใช้ระยะเวลาพิสูจน์และแสดงให้ประจักษ์ว่าคนไทยนั้นไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่อาจมีพฤติกรรมละเลย ไม่ตั้งใจ หรือในอดีตไม่มีกฎหมายเฉพาะเจาะจงเพื่อใช้บังคับเป็นแนวทางให้ปฏิบัติ
ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) กล่าวว่า จากเหตุผลข้างต้นดังกล่าว ทำให้มีกลุ่มบุคคลที่มีความรักและเมตตาต่อสัตว์ เกิดความตั้งใจจริง ในอันที่จะหามาตรการยับยั้งป้องกันการทารุณกรรมสัตว์เหล่านั้น จึงได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย หรือ TSPCA (Thai Society for the Prevention of Cruelty to Animals) ขึ้นและได้รับการจดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2537 โดยมีนายมีชัย วีระไวทยะ เป็นนายกสมาคมฯ คนแรก และมีนายธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ เป็นนายกสมาคมฯ คนปัจจุบันและผู้อุปถัมภ์หลัก ซึ่งมีอุปนายก เช่น รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ดร.เดวิด ไลแมน รศ.น.สพ. ปานเทพ รัตนากร รศ.นุชทิพย์ บรรจงศิลป์ และมีคณะกรรมการ เช่น ดร.น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ ศ.สพ.ญ.ดร.อัจฉริยา ไศละสูต น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน รศ.น.สพ.ดร.ศิวะพงษ์ สังข์ประดิษฐ์ ดร.พลเดช วรฉัตร นายสวรรค์ แสงบัลลังค์ นายอมร ชุมศรี นายเจษฎา อนุจารี ว่าที่ ร.ต.สุรพล ดวงแข น.สพ.ยันต์ สุขวงศ์ นายนวิน นวลมณี และ นางปัทมา สารีบุตร และมีที่ปรึกษา เช่น นางสาวฌาร์ม โอสถานนท์ นางพรอัปสร นิลจินดา นางลัลน์ลลิตฤดี วิเศษศิริ นางสาวมาลินี แย้มวจี เป็นต้น
ตลอด 30 ปี TSPCA ยังคงมุ่งมั่น ทุ่มเทแก้ไขปัญหาการทารุณกรรมสัตว์และการพัฒนาการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ผ่านช่องทางกิจกรรมต่างๆ เช่น ด้านกิจกรรมรณณรงค์ มีการจัดโครงการรณรงค์ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์แห่งชาติ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2548 โดยการทำการสำรวจสถานการณ์การทารุณสัตว์ในประเทศไทย กล่าวคือ สัตว์เลี้ยง สัตว์เศรษฐกิจ สัตว์ทดลอง สัตว์ป่า เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการรณรงค์ และใช้เป็นสมุดปกขาวเปิดเผยสภาพการทารุณสัตว์ในประเทศไทย โครงการนำร่องจัดระเบียบสัตว์จรจัดบนเกาะสีชัง โครงการนำร่องจัดระเบียบสุนัขจรจัดบนพื้นที่มหาวิทยาลัยบูรพา โครงการประกาศเกียรติคุณสวนสัตว์ โครงการจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการ กำหนดเขตพื้นที่วัดเป็นเขตห้ามปล่อยสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร โครงการยุติธุรกิจการจับสัตว์เพื่อปล่อยและทำบุญไม่ทารุณสัตว์ โครงการรณรงค์ยุติการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย โครงการ สะพานบุญเพื่อสัตว์ สู้ภัยโควิด- 19 โครงการบริการวิชาการด้านกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์สู่สังคม กิจกรรมวันเด็ก "สัญญาไม่ทารุณสัตว์" กิจกรรม "ทำบุญ ไม่ทารุณสัตว์" การเผยแพร่ภาพยนตร์สั้น รักไม่ปล่อย และ ภาพยนตร์สั้น ปล่อยนกบุญหรือบาป? ซึ่งเป็นการแสดงวงจรวิถีชีวิตของสัตว์ป่าที่ถูกจับมาเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ
ด้านการผลักดันพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 TSPCA เป็นผู้นำภาคประชาชนในการผลักดันพระราชบัญญัติร่วมกับองค์กรเครือข่ายและประชาชนผู้รักสัตว์ และผู้รวบรวมรายชื่อของประชาชนจำนวน 12,000 รายชื่อ ยื่นต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2555 ซึ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติภาคประชาชนเพียงร่างเดียวที่ผ่านสภา ด้าน รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร อดีตคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงความคิดเห็นว่า "สำหรับโครงการส่งเสริมและคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ โดยการออกเป็นกฎหมายขึ้นมานั้น เป็นสิ่งที่ TSPCA ได้เริ่มและดำเนินการตั้งแต่การก่อตั้งสมาคมฯ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย โดยได้เล็งเห็นว่าการที่เกิดปัญหาการทรมานสัตว์ทั้งหลายในบ้านเรานั้นเป็นผลมาจากการที่ขาดความรู้ความเข้าใจและความตระหนักของประชาชน ตลอดจนเยาวชนถึงเรื่องของสวัสดิภาพสัตว์อันเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะถ้าประชาชนและเยาวชนตลอดจนถึงคนในชาติได้มีความรู้ความเข้าใจและตระหนัก ตลอดจนลงมือกระทำในเรื่องของสวัสดิภาพสัตว์แล้ว การแก้ปัญหาเรื่องของการทรมานสัตว์ จะเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ต้องใช้เวลาและต้องมีมาตรการอื่นมารองรับสนับสนุน เช่น กฎหมายที่ส่งเสริมป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ จะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาการทรมานสัตว์อย่างยั่งยืนของประเทศไทยในอนาคตต่อไป"
ด้านการสร้างจิตสำนึก TSPCA ได้รณรงค์สร้างจิตสำนึกเพื่อให้เด็กและเยาวชนของชาติมีองค์ความรู้และทัศนคติที่ดี มีเมตตาและรักสัตว์อย่างรับผิดชอบ ผ่านกิจกรรม เช่น โครงการประกวดหนังสือเสริมประสบการณ์เกี่ยวกับการส่งเสริมสวัสดิภาพและป้องกันการทารุณสัตว์ ประเภทร้อยแก้วและร้อยกรอง โครงการ มอบรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติ ด้านการทำคุณประโยชน์ โครงการลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา TSPCA ได้เล็งเห็นประโยชน์และหลักการสำคัญของกระบวนการลูกเสือที่มุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนได้รับการฝึกอบรมให้มีความเมตตากรุณาต่อสัตว์ ภายใต้กฎลูกเสือข้อ 6 "ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์"
ด.ช.ภูมิพัฒน์ แทบทาม โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง กล่าวว่า "ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ถือป้ายลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ ในพิธีทบทวนคำปฏิญาณและสวนสนามลูกเสือ ในนามหน่วยลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ ผมรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่ายกย่องอย่างมากโดยที่ผมรู้สึกอย่างนั้นเพราะว่าคำว่าสวัสดิภาพสัตว์นั้นความหมายของมันเป็นความหมายที่ดีมากๆ นั่นคือการที่เราได้ช่วยเหลือสัตว์ให้ปราศจากทุกข์ ดังนั้นผมจึงชอบคำนี้มากๆ และขอขอบคุณกองลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ที่คอยสนับสนุนพวกเราเป็นอย่างมาก"
โครงการรักสัตว์ในโรงเรียน (Animal Friendly School Project) ด.ญ.นัทธมน อินทรัตน์ และ ด.ช.สัตยา นามสง่า โรงเรียนวัดไผ่เงินโชตนาราม เห็นว่า "โครงการรักสัตว์ในโรงเรียน ทำให้พวกเราได้รับความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ เมื่อเลี้ยงสัตว์แล้วต้องให้ความรักความอบอุ่น เวลาหิวก็ต้องหาอาหารให้ และพาไปหาหมอเมื่อไม่สบาย ไม่เอาไปปล่อยทิ้งขว้างเพราะพวกเขาก็เหมือนกับคนเรา เป็นเพื่อนกับเรา มีความรักเป็นห่วงซึ่งกันและกัน และพวกเรายังได้ชมภาพยนตร์สั้น ปล่อยนก บุญหรือบาป เมื่อดูจบพวกเรามีความรู้สึกว่าควรจะหยุดการกระทำนั้น เพราะมันเป็นการทำร้ายครอบครัวนก ทั้งนกที่ถูกจับมา และลูกนกที่อยู่ในรัง"
ด้านการช่วยเหลือสัตว์ เช่น โครงการบ้านอุปถัมภ์ (A Rehome & Adoption Programme) โครงการ รับข้อร้องเรียนและติดตาม HOT ISSUE ที่ผ่านมา TSPCA ได้ดำเนินการติดตามและลงพื้นที่ช่วยเหลือสัตว์ในกรณีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการทำงานนั้นก็ได้ดำเนินการช่วยเหลือสัตว์ที่หลากหลายชนิดประเภท เพราะกฎหมายได้ให้การรับรองและคุ้มครอง ไม่เพียงเฉพาะสุนัขและแมวเท่านั้น เช่น ดร.น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการ TSPCA ได้ลงพื้นที่ ดูแลรักษาช้าง จากการช่วยเหลือช้างในอดีตซึ่งมีช้างเร่ร่อนจำนวนมาก สามารถที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ถึงแม้จะใช้เวลามากกว่า 30 ปี โดยคุณหมอกล่าวว่า "เมื่อทำงานเสร็จก็มานั่งนับจำนวนเข็มฉีดยาเบอร์ 18 ยาว 1 นิ้วครึ่ง หัวพลาสติกสีชมพู ในแต่ละครั้งดูแล้วมันเยอะจริงๆ สำหรับปัจจุบันอาวุธที่สำคัญ คือ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ซึ่งต้องใช้เวลาต่อสู้ถึง 20 ปี ในเวลาเดียวกัน ควาญช้างก็เชื่อใจหมอ ให้เอาช้างกลับบ้านเกิดแล้วหมอจะเดินทางไปดูแล ช้างที่สุรินทร์ บุรีรัมย์ เดือนละ 80-100 เชือก จะหมุนเวียนกันมาให้หมอตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง นอกจากการตรวจสุขภาพแล้วยังมีการให้ยา เช่น ยาถ่ายพยาธิ ยาบำรุงสุขภาพ ยาป้องกันโรคติดต่อ ในรูปของยากินและยาฉีด โรคที่สำคัญในปัจจุบันที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ โรคติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ต่อเซลล์บุผนังหลอดเลือดในช้าง (EEHV-Elephant Endotheliotropic Herpesvirus) เป็นต้น "
นอกจากนั้น TSPCA ยังมีโครงการอื่นที่สำคัญๆ เช่น โครงการสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์ โครงการอาสาสมัครสวัสดิภาพสัตว์ เป็นต้น
ตลอดระยะเวลา 30 ปี TSPCA ต้องขอขอบคุณ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชนผู้รักสัตว์ ผู้มีจิตอันเป็นกุศลที่ร่วมกันบริจาคสมทบทุน พี่น้องสื่อมวลชนทุกท่านทุกสำนักข่าวที่ช่วยสนับสนุนหรือเข้าร่วมในกิจกรรมโครงการต่างๆที่จัดขึ้น โดย TSPCA จะยังคงยึดมั่นในแนวทางสันติวิธีในการดำเนินงาน เพื่อยกระดับและปลุกจิตสำนึกการรักสัตว์อย่างรับผิดชอบ เพื่อสวัสดิภาพสัตว์สู่สวัสดิภาพคน ให้สมกับคำกล่าวของ มหาตมะ คานธี ที่ว่า "ความยิ่งใหญ่และความก้าวหน้าในศีลธรรมของชาติ ตัดสินได้จากวิธีการที่คนในชาติปฏิบัติต่อสัตว์" นั่นเอง