ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ และแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. จัดกิจกรรม "ใส่บาตรหนังสือ ครั้งที่ 15 : การอ่านประสานสันติภาพ" ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวไทย ได้ร่วมกันทำบุญใส่บาตรหนังสือให้กับพระภิกษุและสามเณร จำนวน 50 รูป ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม เพื่อความเป็นสิริมงคลในวาระดิถีขึ้นปีใหม่
รองศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์พนา ศรีสวัสดิ์ รองอธิการบดี จุฬาฯ กล่าวถึงการจัดงานในปีนี้ว่า "กิจกรรมใส่บาตรหนังสือเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดยจะจัดในช่วงเดือนมกราคม เพื่อให้เราทุกท่านได้บรรยากาศของการทำบุญปีใหม่ โดยในวันนี้เราทุกท่านได้มาทำบุญร่วมกัน เริ่มตั้งแต่การถวายภัตารหารช้าแก่พระภิกษุ สามเณร เป็นอาหารกาย และเรายังได้รับอาหารใจจากการรับฟังปาฐกถาธรรมพร้อมกับการสวดมนต์ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับการอ่านประสานสันติภาพว่าเป็นอย่างไร ช่วยให้เรามีสติ มีสมาธิจดจ่ออยู่กับบทสวดและธรรมะ และปิดท้ายด้วยการใส่บาตรหนังสืออันเป็นอาหารสมองที่ช่วยให้เราทุกท่านอิ่มบุญกับกิจกรรมในวันนี้"
โดยในปีนี้ได้เปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา สำนักพิมพ์ต่างๆ ร่วมกันใส่บาตรหนังสือ ถวายคูปองและจตุปัจจัย ให้แก่พระภิกษุ สามเณร จำนวน 50 รูป จาก วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก วัดยานนาวา และวัดหัวลำโพง เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร เลือกหนังสือสื่อการศึกษา ได้ตรงตามความต้องการ ภายในศูนย์หนังสือจุฬาฯ สาขาสยามสแควร์
พระราชญาณกวี ได้ปาฐกถาธรรม หัวข้อ "การอ่านประสานสันติภาพ" โดยมีใจความสำคัญว่า "สันติ คือ ความสงบ ความสุขใจ สันติภาพ เกิดจากมิตรภาพ สังคมใดก็ตามที่มีความสงบ สังคมนั้นคือสังคมแห่งนิพพาน นิพพานที่เราจะพูดถึงคือการดับไฟที่ร้อน กล่าวคือ โลภะ โทสะ โมหะ ล้วนเป็นไฟที่เผาจิตใจ เราจะเห็นได้ว่า สงครามที่เกิดขึ้นจากข้างนอกนั้น ล้วนเกิดขึ้นจากข้างในก่อน เมื่อเราดับไฟข้างในไม่ได้ ก็เท่ากับเราพ่ายแพ้ไฟภายในตัวเอง เราจึงคิดที่จะไปจุดไฟข้างนอก เพื่อที่จะเอาชนะคนอื่น แม้จะเป็นผู้ได้ชัยชนะก็ตาม แต่ชัยชนะนั้นย่อมเกิดจากความพ่ายแพ้ภายในใจของตนเอง"
"อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ เราใช้ศาสตราวุธ เพราะเราใช้ธรรมาวุธไม่ทัน เราใช้สติปัญญาใจการผลิตอาวุธมาทำร้ายกัน ดังนั้นที่ใดดับไฟได้ที่นั่นก็มีสันติ ซึ่งเท่ากับมีนิพพาน เราไม่ต้องการนิพพานหลังตาย แต่เราต้องการนิพพานก่อนตาย เปรียบดังหากเราเหยียบเบรคทัน ก็เท่ากับเราดับภัยที่จะเกิดขึ้นได้ทัน อย่างไฟป่าที่ไหม้ภูเขาทั้งลูก มันเกิดจากหัวไม้ขีดเล็กนิดเดียว นั่นแปลว่าทิฐิมานะของผู้คนที่เกิดจากไฟโทสะ ความคิดจะแก้แค้นกัน เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่เข้าใจกันทำให้เกิดไฟลามทุ่ง สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้เปรียบเสมือนไฟลามทุ่ง ที่ทำให้เราพยายามค้นหาสันติภาพที่ไม่มีวันพบได้"
"การอ่านประสานสันติภาพได้อย่างไร การอ่านในที่นี้จะประสานสันติภาพได้ ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจ อ่านแล้วเกิดความรู้ ความรัก ความหวัง ความทรงจำและเกิดแรงบันดาลใจที่จะแก้ไขตัวเองก่อนที่จะไปแก้ไขคนอื่น ปัญหาของมนุษย์ก็คือ เราคิดว่าคนอื่นผิด เราถูก ซึ่งเขาก็คิดแบบเดียวกัน จนเกิดการต่อสู้กัน การเอาชนะนั่นคือการพ่ายแพ้ การยอมแพ้ต่างหากคือชัยชนะ เพราะถ้าคิดจะเอาชนะก็จะมีผู้ชนะเพียงหนึ่งคน และเกิดการก่อเวร แต่ถ้าให้อภัยกัน ก็จะมีผู้ชนะทั้งสองฝ่าย และผลจากการได้ชัยชนะร่วมกันนั้นย่อมเกิดจากการอ่าน ที่ทำให้เราได้สันติภาพ สันติธรรม"
ด้านสามเณรโกวิท ภูดวงดาว อายุ 11 ปี ศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก กล่าวว่า "มาบวชได้ 10 เดือน บวชให้กับพ่อแม่ วันนี้เลือกหนังสือภาษาอังกฤษ และบัตรคำภาษาจีน เพราะมีความสนใจเรียนหลายๆ ภาษา อยากไปศึกษาต่อต่างประเทศ"
สามเณรธีรเดช พรพัฒน์ อายุ 15 ปี ศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 วัดยานนาวา กล่าวว่า "วันนนี้เลือกหนังสือเคมี และชีววิทยา เพราะสนใจเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ หนังสือที่เลือกไปในวันนี้ จะใช้อ่านเพื่อเตรียมตัวศึกษาต่อสายวิทยาศาสตร์ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย"
"การอ่านหนังสือ คือการติดอาวุธทางปัญญา ปัญญาวุธ จะยุติสงครามในอารมณ์ ปัญญาวุธ จะแก้ปัญหาศาสตราวุธในทุกสมรภูมิ ปัญญาวุธ คือมิตรภาพ และมิตรภาพจะสร้างสันติภาพ"
การใส่บาตรหนังสือจึงแตกต่างจากการใส่บาตรข้าวปลาอาหาร เพราะหนังสือเปรียบเสมือนอาหารสมองที่ต้องบ่มเพาะผ่านการอ่าน จนก่อให้เกิดขุมทรัพย์ทางปัญญาที่มีคุณค่า การให้หนังสือจึงเปรียบได้กับการให้ปัญญา ที่ก่อให้เกิดความอิ่มเอมใจทั้งผู้ให้และผู้รับ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้พระภิกษุ สามเณร สามารถเข้าถึงแหล่งการศึกษาที่ยั่งยืนทั้งทางธรรมและสายสามัญ ก่อให้เกิดศาสนทายาทที่จะช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป