บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านอาหารทะเลระดับโลก ได้ปรับเปลี่ยนโครงการพัฒนาเรือประมง และแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง หรือ Vessel Code of Conduct (VCoC) เพื่อสร้างแนวทางที่ชัดเจนกับเรือประมงซึ่งจัดหาวัตถุดิบให้กับบริษัท ตลอดจนปรับปรุงยกระดับการดำเนินงานด้านแรงงาน ด้านจริยธรรม และด้านการตรวจสอบ (audit) ในภาคประมง
โครงการการพัฒนาเรือประมง และแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง หรือ Vessel Code of Conduct (VCoC) ของไทยยูเนี่ยนเริ่มต้นขึ้นในปี 2560 เพื่อจัดการสภาพการทำงานบนเรือประมงที่จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ โดยแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมงนี้ เป็นส่วนขยายจากจรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงานของไทยยูเนี่ยน ซึ่งคู่ค้าทางธุรกิจของไทยยูเนี่ยนในปัจจุบัน และคู่ค้ารายใหม่ต้องลงนามในแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมงในการทำธุรกิจกับบริษัท เป็นการยืนยันว่า มีการดำเนินการตามแนวปฏิบัติ VCoC กับเรือประมงทั้งหมดในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท
ไทยยูเนี่ยนได้ร่วมมือกับเครือข่าย CEO-led Consumer Goods Forum (CGF) เพื่อปรับเปลี่ยนโครงการพัฒนาการทำงานและสวัสดิการแรงงานประมง (Fisher Work and Welfare program) และ VCoC ให้มีความสอดคล้องมากที่สุดกับกรอบการดำเนินงาน At-Sea Operations ของโครงการ Sustainable Supply Chain Initiative (SSCI) ความร่วมมือนี้จะช่วยให้มาตรฐานบนเรือประมงของไทยยูเนี่ยนในฐานะผู้ผลิตและผู้รับซื้อสัตว์น้ำ มีความสอดคล้องกับมาตรฐานของอุตสาหกรรมค้าปลีก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับอุตสาหกรรม
CGF และ ไทยยูเนี่ยน ได้มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญอิสระมาช่วยปรับปรุงเนื้อหาและกระบวนการทำงานของโครงการพัฒนาการทำงานและสวัสดิการแรงงานประมง ของไทยยูเนี่ยน จนสอดคล้องกับเกณฑ์การดำเนินงานและการตรวจสอบของ SSCI at-sea operations ได้เกือบทุกด้าน ทั้งนี้โครงการของไทยยูเนี่ยนไม่ได้เป็นการตรวจสอบเพื่อรับรองจากบุคคลที่สาม (third-party certification) กฎระเบียบที่เกี่ยวกับการรับรองหน่วยตรวจระบบกำกับดูแลจึงอยู่นอกขอบเขตการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ได้รับมอบหมาย
สำหรับรายละเอียดการปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง ครั้งที่ 3 มีดังนี้:
- ปรับเปลี่ยนภาษา พร้อมแก้ไขการตีความนิยามข้อบังคับและส่วนเพิ่มเติมเฉพาะ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนด at-sea operations ของ Sustainable Supply Chain Initiative (SSCI)
- การพัฒนาเพิ่มเติมโครงการพัฒนาการทำงานและสวัสดิการแรงงานประมง (Fisher Work and Welfare) เพื่อรวมกระบวนการและขั้นตอนสำหรับการคัดเลือก การตรวจสอบ และการทบทวนผู้ตรวจสอบด้านสังคม (social auditors)
- วางระบบการติดตามการปรับปรุง และระบบบริหารจัดการการตรวจสอบทั่วไปให้เป็นทางการมากขึ้น
- จัดทำคู่มือการดำเนินงานสำหรับผู้ตรวจสอบ เพื่อให้สอดคล้องกับวิธีการและการตีความข้อบังคับของแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง
โครงการนี้ตอกย้ำถึงคุณค่าจากการร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม เช่น โครงการ SSCI ภายใต้ CGF แม้ว่าไทยยูเนี่ยนอาจจะไม่ได้เข้าเกณฑ์โครงการ SSCI ทั้งหมด แต่ไทยยูเนี่ยนได้แสดงให้เห็นว่าสามารถนำเครื่องมือวัดผลของโครงการ SSCI มาปรับใช้กับทิศทางของบริษัทฯ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานของอุตสาหกรรม และมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
จากความร่วมมือระหว่างไทยยูเนี่ยนกับ CGF ครั้งนี้ ในการปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง ครั้งที่ 3 โดยใช้เกณฑ์ขององค์กร SSCI พบว่าเป็นไปตามเกณฑ์การดำเนินงานในทะเลอย่างสมบูรณ์แบบ โดยในการตรวจสอบไม่ได้รวมเรื่องการทำประกันให้แก่ชาวประมง เนื่องจากอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมซึ่งทางไทยยูเนี่ยนจะเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ อดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "แนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมงตัวใหม่จะช่วยให้การจัดการด้านแรงงาน จริยธรรม และการติดตามบนเรือประมงที่ไทยยูเนี่ยนรับซื้ออาหารทะเลปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามความคาดหวังมากยิ่งขึ้น"
แนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมงยังครอบคลุมถึงหน้าที่ของคู่ค้าในการพัฒนาโครงการพัฒนาเรือประมง (Vessel Improvement Program: VIP) เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนด และจัดการประเด็นต่างๆ ที่ต้องปรับปรุง แนวปฏิบัตินี้จะช่วยเพิ่มความโปร่งใสให้กับคู่ค้า รวมทั้งเป็นการแสดงความรับผิดชอบและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
โทนี่ ลาซาสซารา ผู้อำนวยการกลุ่มการจัดซื้อวัตถุดิบปลา บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "เรายังคงเดินหน้าในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกสำหรับเรือประมงของคู่ค้า เรายังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมงานที่ปลอดภัย ถูกกฎหมาย และมีคุณค่า โดยการดำเนินการตามภารกิจนี้ ครอบคลุมไปถึงการบังคับใช้จรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงานอย่างเข้มงวด ดังนั้น หากคู่ค้ารายใดที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้จะถูกยุติสัญญาและไม่สามารถคงสถานะการเป็นคู่ค้าให้กับไทยยูเนี่ยนได้"
SeaChange(R) หรือกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยนเปิดตัวในปี 2559 และปรับปรุงใหม่ในปี 2566 ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งเป้าหมายใหม่จนถึงปี 2573 โดยถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจของไทยยูเนี่ยน ซึ่งปลูกฝังเรื่องความยั่งยืนไว้ในทุกแง่มุมของการดำเนินงาน พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายอันมุ่งมั่นของเราผ่านเป้าหมายทั้ง 11 ประการที่เชื่อมโยงถึงกัน พร้อมมุ่งพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่ยั่งยืน เรามั่นใจว่ากลยุทธ์ SeaChange(R) 2030 จะช่วยทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจริง เพื่อร่วมกันทำให้โลกของเรายั่งยืนเพื่อคนรุ่นต่อไป
เป้าหมายของกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange(R)?2030 ประกอบด้วย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 42 เปอร์เซ็นต์ในขอบเขตที่ 1, 2 และ 3 ภายในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 การสนับสนุนงบประมาณ 250 ล้านบาท (มากกว่า 7 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศสำคัญ การปล่อยน้ำเสียเป็นศูนย์ การลดของเสียฝังกลบเป็นศูนย์ และลดการสูญเสียอาหารเป็นศูนย์ ในโรงงานหลักห้าแห่งทั้งในและต่างประเทศ การทำประมงอย่างรับผิดชอบ โดย 100 เปอร์เซ็นต์ของอาหารทะเลที่จับจากธรรมชาติจะต้องผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ และไทยยูเนี่ยนยังคงเดินหน้าสร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย มีคุณค่า ยอมรับความแตกต่างและหลากหลาย มีความเท่าเทียม ตามแนวปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง