หลายคนคงเคยสงสัยว่ามีอาหารอะไรบ้างที่ควรหรือไม่ควรกินคู่กัน ซึ่งบางคนอาจเคยได้ยินมาว่าถ้างดกินโปรตีนกับคาร์โบไฮเดรตพร้อมในมื้อเดียวกัน จะช่วยทำให้น้ำหนักลดลงได้ แต่กลับปรากฎว่ามีการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วได้หักล้างความเชื่อดังกล่าว
แนวคิดเกี่ยวกับการจับคู่อาหาร หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า "food synergy" หรือ "food pairing" คือการกินอาหารบางอย่างคู่กันแล้วทำให้ได้ประโยชน์ทางโภชนาการมากกว่ากินแยกกัน โดยในบทความนี้ ซูซาน โบเวอร์แมน ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการศึกษาและการฝึกอบรมโภชนาการระดับโลกของเฮอร์บาไลฟ์ จะมาแบ่งปันลิสต์ 5 คู่อาหารที่กินด้วยกันแล้วได้ประโยชน์ เพื่อคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าเดิม
คุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น แค่ลองจับคู่อาหาร
- ผักหลากสีกินพร้อมไขมันเพียงเล็กน้อย ผักและผลไม้หลายชนิดมีสารประกอบที่เรียกว่าแคโรทีนอยด์ ซึ่งสารนี้เป็นเม็ดสีธรรมชาติที่ทำให้อาหารอย่าง มะเขือเทศ แครอท และผักโขมมีสีสันสวยงาม โดยผักผลไม้เหล่านี้มีเม็ดสีเฉพาะของตัวเอง เรียกว่า ไลโคปีน, เบต้าแคโรทีน และลูทีน ตามลำดับ
แคโรทีนอยด์ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผักและผลไม้เป็นส่วนสำคัญของอาหารเพื่อสุขภาพ สารประกอบสำคัญเหล่านี้ละลายในไขมันได้ ซึ่งหมายความว่า ถ้าเรากินผักพร้อมกับอาหารที่มีไขมันเล็กน้อย จะทำให้ร่างกายได้รับแคโรทีนอยด์มากขึ้น ดังนั้นการเติมไขมันที่ดีต่อสุขภาพจากอะโวคาโดหรือน้ำมันมะกอกลงในสลัด จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคโรทีนอยด์ที่อยู่ในผักกาด แครอท และมะเขือเทศได้ดี
- วิตามินซีจากผักและธัญพืชที่มีธาตุเหล็ก ธาตุเหล็กจำแนกตามโครงสร้างได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ธาตุเหล็กในรูปแบบ "ฮีม (Heme)" พบได้ในปลา เนื้อสัตว์ และสัตว์ปีก ซึ่งร่างกายดูดซึมได้ง่ายกว่าธาตุเหล็กในรูปแบบอื่นที่เรียกว่า "Non-Heme" ที่พบในอาหารจากพืช
เมื่อเรากินวิตามินซีควบคู่ไปกับอาหารที่มีธาตุเหล็กรูปแบบฮีม ร่างกายจะดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น และใช้เวลาไม่นาน โดยปริมาณวิตามินซีในส้ม 1 ลูกหรือมะเขือเทศ 1 ลูกสามารถช่วยดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้นเกือบ 3 เท่า! ดังนั้นมะเขือเทศที่อยู่ในส้มตำจะเป็นตัวช่วยดูดซับธาตุเหล็กในถั่ว ส่วนสตรอเบอร์รี่จะช่วยให้เราได้รับธาตุเหล็กในซีเรียลได้ดีขึ้น และธาตุเหล็กในผักโขมจะถูกดูดซึมได้ดีขึ้นถ้าลองใส่ส้มหรือเกรปฟรุตลงในสลัดแล้วกินคู่กัน
- มะนาวและชาเขียว ไฟโตนิวเทรียนท์ในชาเขียวตามธรรมชาติ จะมีสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์เรียกว่า "คาเทชิน" ทำหน้าที่ช่วยปกป้องเซลล์และเนื้อเยื่อของร่างกายจากความเสียหายของการออกซิเดชัน และเมื่อเติมมะนาวลงไปในชาเขียว วิตามินซีจากมะนาวสามารถช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ได้ ส่วนใครที่ไม่ชอบมะนาว ให้ลองใส่ผลไม้อื่น ๆ ที่อุดมไปด้วยวิตามินซีลงไปตอนชงชาแทน เช่น ผลเบอร์รี่ หรือส้มหั่นเป็นชิ้น ๆ
- ปลาและผักใบเขียว เมื่อเราดื่มนมที่เสริมวิตามินดี วิตามินดีจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมในนมได้ดีขึ้น แต่ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ดีในการจับคู่สารอาหารทั้ง 2 ชนิดนี้ อย่างการกินปลาและผัก โดยเฉพาะปลาที่มีไขมันดี เช่น ปลาแซลมอนและปลาแมคเคอเรลที่ให้วิตามินดี ส่วนผักใบเขียวที่ให้แคลเซียม เช่น ผักกาดเขียว ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ซึ่งถ้ากินอาหารทั้ง 2 ชนิดนี้คู่กันจะช่วยให้ร่างกายได้รับแคลเซียมจากผักดีขึ้น
- มิกซ์ใหญ่จัดเต็มอาหารจากพืช อาหารจากพืชหมายรวมถึงทั้งผลไม้ ผัก และถั่ว ที่เป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีที่สุด โดยประโยชน์ของสารต้านอนุมูลอิสระจะเพิ่มขึ้นเมื่อเรากินรวมกัน มากกว่ากินอย่างใดอย่างหนึ่งเดี่ยว ๆ เช่น การมิกซ์จับคู่ระหว่างส้ม แอปเปิ้ล องุ่น และบลูเบอร์รี่ จะมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าผลไม้เมื่อกินแยกชนิดในปริมาณที่เท่ากัน