การรักษามะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะเริ่มต้นด้วยวิธีการผ่าตัด เพราะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการควบคุมโรคมะเร็งเต้านม แต่ผู้ป่วยหลายคนมักประสบปัญหามีอาการบวมน้ำเหลืองหลังจากผ่าตัด ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ เช่น การเคลื่อนไหวร่างกาย และความกังวลเกี่ยวกับอาการ
นายแพทย์ธนวัฒน์ เพชรรัชตะชาติ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า การผ่าตัด มะเร็งเต้านม มักจะต้องมีการเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก เพื่อประเมินการลุกลามของโรค และเพื่อกำจัดมะเร็งที่ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง เมื่อต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ถูกเลาะออกไปจะทำให้การขนส่งน้ำเหลืองหยุดชะงัก น้ำเหลืองบริเวณนั้นจึงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการอุดตันและมีอาการบวมน้ำเหลืองตามมา โดยเฉพาะหากได้รับการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ร่วมกับการฉายรังสี จะมีโอกาสเกิดภาวะแขนบวมน้ำเหลืองมากกว่า 30 %
อาการบวมน้ำเหลืองสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกคนที่ได้รับการรักษา โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงเรื่องแขนบวมน้ำเหลืองมากที่สุดในช่วง 3 ปีแรก (12 - 30 เดือน) ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาอาการบวมน้ำเหลืองให้หายขาด แต่เป้าหมายของการรักษาคือ ลดอาการบวม และรักษาระดับอาการให้กลับสู่ระยะที่ไม่แสดงอาการ
วิธีการลดบวมน้ำเหลืองที่เป็นมาตรฐาน คือ Complete Decongestive Therapy หรือ CDT ประกอบไปด้วย การดูแลผิว, การนวดระบายน้ำเหลือง, การใช้ผ้ายืดหรือปลอกแขนลดบวม, และการออกกำลังกาย ซึ่งการนวดระบายน้ำเหลือง เป็นการนวดเพื่อกระตุ้นให้ระบบไหลเวียนน้ำเหลืองทำงานได้ดียิ่งขึ้น อาการบวมก็จะลดลง
ในปัจจุบัน มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยกระตุ้นระบบน้ำเหลือง เรียกว่า "เครื่องบำบัดแรงดันลบ" หรือ Negative Pressure Therapy หลักการคือเครื่องมือตัวนี้จะทำให้เนื้อเยื่อในบริเวณที่รักษามีการขยายออก ส่งผลให้ผนังหลอดน้ำเหลืองฝอยขยายตัว ของเสียจึงไหลเข้าสู่หลอดน้ำเหลืองฝอยได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้กลไกการทำงานของระบบน้ำเหลืองกลับมาปกติ โดยใช้ระยะเวลาในการทำประมาณ 45 - 60 นาที/ครั้ง แนะนำทำ 3 ครั้ง/สัปดาห์ รวม 10 - 15 ครั้ง ซึ่งสามารถทำภายหลังการผ่าตัดได้โดยมีจะมีแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเป็นผู้ประเมินผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป
ข้อดีของการกระตุ้นระบบน้ำเหลืองด้วยเครื่องบำบัดแรงดันลบ คือมีประสิทธิภาพในการลดบวมน้ำเหลืองมากกว่าการนวด ลดความเมื่อยล้าของนักกายภาพบำบัด ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเนื่องมาจากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย ขณะที่ข้อห้ามในการทำแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ข้อห้ามโดยเด็ดขาด คือ ผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกแบบเฉียบพลัน, บริเวณที่รักษามีการติดเชื้อ, ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว, อาการบวมน้ำจากโรคหัวใจ, โรคไตวาย, ภาวะที่มีการเพิ่มเลือดในหลอดเลือดดำหรือระบบน้ำเหลืองไหลกลับเข้าสู่หัวใจ
- ข้อห้ามโดยอนุโลม (พิจารณาเป็นราย ๆ ไป) ผู้ป่วยมะเร็ง, หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีการข้อห้ามในการนวดระบายน้ำเหลืองด้วยมือ
ทั้งนี้ การใช้เครื่องบำบัดแรงดันลบจำเป็นต้องทำร่วมกับการดูแลผิว, การใช้ผ้ายืดหรือปลอกแขนลดบวม และการออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดปวด ลดบวม และเพิ่มคุณภาพชีวิตได้มากที่สุด
"แนะนำผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการผ่าตัดรักษาแล้ว ควรกลับมาพบแพทย์ภายในระยะเวลา 1 เดือนหลังผ่าตัด เพื่อให้แพทย์ได้ประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ รวมถึงภาวะบวมน้ำเหลือง แต่หากผู้ป่วยสังเกตว่ามีอาการบวมเกิดขึ้นและเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ให้รีบมาพบแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ครบ 1 เดือน" นายแพทย์ธนวัฒน์กล่าว