PwC ประเทศไทย แนะธุรกิจใช้งานเอไออย่างมีสำนึกรับผิดชอบ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 1, 2024 11:28 —ThaiPR.net

PwC ประเทศไทย แนะธุรกิจใช้งานเอไออย่างมีสำนึกรับผิดชอบ

คาดการใช้งาน GenAI มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้

PwC ประเทศไทย แนะผู้ประกอบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเอไออย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มศักยภาพให้แก่ธุรกิจ พร้อมคาดจะมีการนำ GenAI มาใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้นในปีนี้หลังเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานภายในองค์กร การสร้างรายได้ และการแสวงหาโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ

นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจบริการทางการเงินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และหัวหน้าสายงานธุรกิจที่ปรึกษา PwC ประเทศไทย กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI: GenAI) จะถูกนำมาใช้งานในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2567 หลังองค์กรหลายแห่งมีการนำ GenAI มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรและปรับปรุงคุณภาพของข้อมูล

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยผลการศึกษาความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีเอไอขององค์กรภาครัฐและเอกชนไทยพบว่า 15.2% มีการนำเอไอมาใช้งานแล้วในองค์กร ขณะที่ 56.65% มีแผนที่จะนำมาใช้ในอนาคต และ 28.15% ยังไม่มีแผนที่จะใช้เอไอ

"การใช้งาน GenAI ในไทยจะยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ เพราะตอนนี้หลายองค์กรเริ่มมีการใช้งานเป็น use cases เล็ก ๆ โดยเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และเพื่อทดลองทำความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาคน และปรับปรุงคุณภาพของข้อมูลไปพร้อม ๆ กันด้วย" นางสาว วิไลพร กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากบทความ '2024 AI Business Predictions' ของ PwC ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า 73% ของบริษัทในสหรัฐอเมริกาได้นำเอไอไปใช้กับธุรกิจในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแล้ว และหนึ่งปีหลังจากที่ ChatGPT เข้าสู่ตลาดบริษัทมากกว่าครึ่งที่ถูกสำรวจ (54%) ได้นำ GenAI ไปใช้กับธุรกิจบางส่วนของตน

"GenAI ถือเป็นเทคโนโลยีที่สามารถใช้ได้ในทุกอุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่เริ่มใช้กับงาน back office เช่น ไฟแนนซ์ เอชอาร์ งานวิจัย การจัดทำรายงาน และอื่น ๆ รวมไปถึงงานที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าอย่าง chatbot การค้นหาข้อมูล เปรียบเทียบข้อมูลสินค้า หรือให้คำแนะนำในการเลือกสินค้าที่เหมาะสม" นางสาว วิไลพร กล่าว

ควบคุมความเสี่ยงด้วยกรอบ 'Responsible AI'

อย่างไรก็ดี แม้ GenAI จะได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจไทย นางสาว วิไลพร กล่าวว่าผู้บริหารควรต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เอไอเพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับผู้บริโภค รวมถึงควรประเมินประสิทธิภาพและผลลัพธ์จากการใช้งานอย่างต่อเนื่อง โดยควรแบ่งความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ GenAI ออกเป็น 4 ประการ ดังนี้ 

  • ความเสี่ยงจากข้อมูลที่นำมาใช้ เกิดขึ้นจากการมีข้อมูลที่มีคุณภาพต่ำทำให้เกิดการวิเคราะห์ที่ผิดพลาด หรือในบางกรณี โมเดลเอไออาจสร้างเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องและ/หรือเป็นอันตราย ก่อให้เกิดการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
  • ความเสี่ยงทางโมเดลและอคติ การละเมิดหลักการทางจริยธรรมและก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นการเลือกปฏิบัติและไม่เป็นธรรม (Bias)
  • ความเสี่ยงจากข้อมูลที่นำเข้า การให้คำตอบที่ทำให้เข้าใจผิด ไม่ถูกต้อง และเป็นอันตรายของโมเดลเอไอ โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากคำถามที่ซับซ้อน หรือข้อมูลนำเข้าที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบ
  • ความเสี่ยงจากผู้ใช้งาน ที่นำผลลัพธ์จาก GenAI ไปใช้ในทางที่ผิด
  • "ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ทุกธุรกิจจะต้องมีกรอบการใช้งานเอไออย่างมีจรรยาบรรณและมีสำนึกรับผิดชอบ โดย framework นี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนเริ่มจากการควบคุมการวางแผน ออกแบบ จัดหา หรือพัฒนาโมเดลเอไอ เพื่อเลือกข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสม ตามด้วยการตรวจสอบโมเดลเพื่อกำหนดเกณฑ์ในการประเมินความเสี่ยงจากโมเดลเอไอ และสุดท้าย การจัดการโมเดลเอไอเพื่อนำเสนอผลจากการวิเคราะห์ก่อนใช้" เธอ กล่าว 

    ทั้งนี้ การกำหนดแนวปฏิบัติในการหาอคติจากข้อมูล การฝึกอบรมทีมงานให้จัดการกับรูปแบบการเรียนรู้ของเครื่องจักรและข้อมูลที่อาจมีอคติ หรือการใส่ข้อมูลที่มีอคติโดยมนุษย์ และการกำหนดเกณฑ์เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น จะช่วยป้องกันความเข้าใจผิด ความยากในการตีความ ภัยคุกความทางไซเบอร์ และความเป็นส่วนตัวได้

    "การกำกับการใช้งานเอไอที่มีความยุติธรรม ถูกต้อง มีความน่าเชื่อถือ และมีการป้องกันความเป็นส่วนตัวจะช่วยดึงศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ออกมาเสริมการทำงานที่มีมนุษย์เป็นผู้นำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กรได้" นางสาว วิไลพร กล่าว

    นอกจากนี้ บทความของ PwC ฉบับดังกล่าว ยังได้คาดการณ์ 6 แนวโน้มของเอไอในธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 ไว้ ดังต่อไปนี้  

  • การเลือกใช้เอไอที่ถูกต้องจะช่วยให้บริษัทมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน
  • GenAI จะพลิกโฉมวิธีการทำงานของผู้นำองค์กรและบุคลากร
  • ช่วงเวลาแห่งการสร้างความไว้วางใจจากการใช้งานเอไอกำลังจะมาถึง
  • GenAI จะเติมเต็มการใช้ข้อมูลที่ซับซ้อนและไม่มีโครงสร้าง
  • GenAI จะเป็นตัวเร่งการพลิกโฉมทางธุรกิจ
  • GenAI จะก่อให้เกิดสินค้าและบริการประเภทใหม่
  • "GenAI ที่ได้รับการฝึกฝนล่วงหน้าและปรับให้เข้ากับความต้องการของธุรกิจจะช่วยให้พนักงานสามารถเลือกใช้งานได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการค้นหาข้อมูล สรุปเอกสาร หรือการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งนำไปสู่การสนับสนุนการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ โดยอาศัยข้อมูลที่มีความพร้อมและครบถ้วน นอกเหนือไปจากการลดต้นทุนและย่นระยะเวลาในการทำงานให้สั้นลง" นางสาว วิไลพร กล่าว


    แท็ก PwC  

    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ