เลขาธิการ สปสช. เยี่ยมให้กำลังใจคลินิกเวชกรรมอารีรักษ์ ชุมชนคลองเตย เตรียมยกเป็นพื้นที่สำหรับการวิจัยและพัฒนาบริการใหม่ๆสำหรับเขตเมือง พร้อมช่วยดูแลการเบิกจ่ายให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพื่อให้คลินิกมีรายได้เพียงพอและเป็นที่พึ่งของคนในชุมชนต่อไป
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมคณะผู้บริหาร สปสช. เขต 13 กทม. ลงพื้นที่เยี่ยมเสริมพลัง ณ คลินิกเวชกรรมอารีรักษ์ ชุมชนคลองเตย ล็อก 4-5-6 เขตคลองเตย กทม. เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567 โดยมี นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป นางศรินทร สนธิศิริกฤตย์ เจ้าของคลินิกเวชกรรมอารีรักษ์ ให้การต้อนรับ
สำหรับคลินิกเวชกรรมอารีรักษ์ เป็นคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดของ กทม. โดยดูแลประชากรสิทธิบัตรทอง 9,991 คน จากจำนวนประชากรสิทธิบัตรทองในเขตคลองเตยทั้งหมด 49,665 คน
ทั้งนี้ นพ.จเด็จ ได้เยี่ยมชมกระบวนการจัดการของคลินิก เช่น การคัดกรองผู้ป่วย การตรวจรักษา การพยาบาลและการทำหัตถการ การดูแลก่อนหลับบ้านหรือส่งต่อไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพสูงกว่า ระบบการจัดการยา สต๊อกยา และระบบเวชระเบียนต่างๆ พร้อมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและให้คำแนะนำแก่คณะผู้บริหารของคลินิก
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ชุมชนคลองเตยเป็นชุมชนแออัดที่มีกลุ่มเปราะบางค่อนข้างมาก การมาเยี่ยมชมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อดูว่าคลินิกชุมชนอบอุ่นจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ได้อย่างไร และอีกด้านคือทำอย่างไรให้คลินิกมีรายได้ที่เพียงพอที่จะอยู่เป็นที่พึ่งของประชาชนได้
นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากการหารือมีข้อสรุปร่วมกันคือในชุมชนนี้ยังต้องมีคลินิกเพิ่มอีก ซึ่ง สปสช. จะร่วมกับ กทม. และมูลนิธิดวงประทีป ในการเชิญชวนคลินิกให้เข้ามาเปิดบริการเพิ่มเติม
"กับอีกส่วนคือได้เห็นปัญหาว่าคลินิกนี้ทำงานเยอะมาก แต่ระบบการจ่ายเงินของ สปสช. ยังจ่ายได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ยังมีหลายรายการที่คลินิกทำแล้วไม่ได้ส่งเบิก บางกิจกรรมทำแล้วเข้าใจว่าเบิกไม่ได้ โดยเฉพาะงานลงพื้นที่ทำเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในชุมชน ที่ผ่านมาคลินิกทำโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ ทาง สปสช. ก็จะช่วยรายละเอียดในการเบิกจ่ายให้"นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า สปสช. ยังจะผลักดันให้พื้นที่นี้ เป็นพื้นที่สำหรับการวิจัยและพัฒนารูปแบบบริการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่เฉพาะ โดยเฉพาะการทำงานเชิงรุกค้นหาผู้ป่วยที่บ้านหรือคนที่กำลังจะป่วยแล้วทำเรื่องการเสริมสร้างสุขภาพป้องกันโรค ถ้าทำแล้วคลินิกมีรายได้ที่พออยู่ได้ก็จะเป็นโมเดลแก่ชุมชนอื่นๆ ซึ่งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าน่าจะเห็นกิจกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น
ด้าน นางศรินทร กล่าวว่า ต้องของคุณเลขาธิการ สปสช. ที่มาเยี่ยมให้กำลังใจ เพราะเดิมทีตั้งใจจะปิดคลินิกในเดือนนี้เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง เพราะมีต้นทุนค่ายาและค่าตอบแทนบุคลากรที่สูงเพื่อดึงดูดให้เข้ามาทำงานในพื้นที่และเพื่อคุณภาพการให้บริการที่ดี รวมทั้งการเบิกจ่ายค่าบริการซึ่งเบิกได้แค่ประมาณ 70% แต่เมื่อได้หารือกันก็มีความหวังว่าคลินิกจะยังอยู่และทำหน้าที่ช่วยประชาชนได้ต่อไปได้ เชื่อว่าสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ 100% จะทำให้คลินิกมีตัวเลขการขาดทุนที่น้อยมากและสามารถเปิดให้บริการได้ต่อไป
ขณะที่ นางประทีป กล่าวว่า หลังจากช่วงโควิด-19 แล้ว คุณภาพชีวิตของคนในชุมนนี้ลดลงไปมาก บางคนเป็นลองโควิด ป่วยติดบ้านติดเตียง มีปัญหาสุขภาพแทรกซ้อน และคนกลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มเปราะบาง ดังนั้นต้องขอขอบคุณเลขาธิการ สปสช. ที่เข้ามาเยี่ยมชมและให้กำลังใจ รวมทั้งส่งเสริมให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่สำหรับการวิจัยและพัฒนา และหวังว่าจะเป็นต้นแบบแก่ชุมชนแออัดในเขตอื่นๆ ในการดูแลสุขภาพประชาชนกลุ่มเปราะบางให้มีความเป็นอยู่ที่ดี