ภาคเอกชนอียู เข้มมาตรฐานสินค้าอาหาร ‘สถาบันอาหาร’ แนะผู้ส่งออกไทยรับฝีมือ ก้าวสู่เวทีการค้าโลก

ข่าวทั่วไป Wednesday May 7, 2008 10:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
สถาบันอาหารเตือนผู้ประกอบการไทยคุมเข้มคุณภาพอาหารส่งออกไปตลาดอียู ผู้ผลิตรายเล็กรับภาระต้นทุนเพิ่ม ชี้แม้ภาคเอกชนอียูมีเงื่อนไขของมาตรฐานสูงเป็นอุปสรรคสำคัญในการส่งออกของไทย แต่เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะได้พัฒนาและปรับปรุงตนเอง เพิ่มขีดความสามารถ ให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลก แนะรวมตัวสร้างพันธมิตรร้อง WTO พิจารณาเพิ่มความชัดเจนของหน่วยงานภาคเอกชน ลดช่องโหว่ป้องไม่ให้ประเทศพัฒนาแล้ว นำมาสร้างมาตรฐานการกีดกันทางการค้าได้
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ปัจจุบันคุณภาพของสินค้าเกษตรและอาหารเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นเป้าหมายของผู้ส่งออกทั่วโลกในการ ส่งสินค้าเกษตรและอาหารเข้าไปจำหน่าย และกลยุทธ์ในการแข่งขันที่ดีที่สุด คือ การแข่งขันด้านคุณภาพ เนื่องจาก พฤติกรรมการบริโภคในอียูได้เปลี่ยนไป ผู้บริโภคต้องการทราบแหล่งที่มาของสินค้าอย่างชัดเจน โดยสินค้าที่ผลิตได้ในอียูมีข้อได้เปรียบหลายด้าน อาทิ มาตรฐานความปลอดภัยสูง สวัสดิภาพสัตว์ และมาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อม และปัจจุบันอียูมีนโยบายสนับสนุนสินค้าคุณภาพเหล่านี้มากยิ่งขึ้น โดยผู้ผลิตในกลุ่มประเทศสมาชิกอียูมีการรวมตัวกันสร้างสัญลักษณ์หรือตรา (logos and certification schemes) เพื่อแสดงให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่าง สินค้าปกติกับสินค้าที่ได้รับตรารับรองคุณภาพ
แนวคิดการกำหนด Food Quality Scheme ของอียูได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2541 ขณะนี้มีจำนวนมากกว่า 200 มาตรฐาน การกำหนดให้สินค้าที่จำหน่ายในอียูต้องผลิตด้วยมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยสูงนั้น ถือได้ว่าเป็นการอุดหนุนการผลิตสินค้าเกษตรภายในกลุ่มอียูและกีดกันสินค้าด้อยคุณภาพจากต่างประเทศอีกทางหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นอุสรรคทางการค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยได้
สำหรับมาตรฐานสินค้าทั้งที่เกิดจากภาคเอกชนและภาคเอกชนร่วมกับภาครัฐของอียูที่ผู้ประกอบการไทยต้องปฏิบัติตามนั้นมีมากมาย เช่น 1. มาตรฐานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้า ในตลาด (Benchmarking) อาทิ BRC global standard, food เป็นการประยุกต์รวมกันของมาตรฐาน HACCP, ระบบบริหารคุณภาพ, การควบคุมมาตรฐานสภาพแวดล้อมของโรงงาน, การควบคุมผลิตภัณฑ์, การควบคุมกระบวนการผลิต และบุคลากร เพื่อเพิ่มความสามารถของผู้ประกอบการอาหาร IFS (International Food Standard) เป็นมาตรฐานที่พัฒนาขึ้น สำหรับสินค้าที่จำหน่ายในเยอรมัน ฝรั่งเศส และ อิตาลี GlobalGAP คือมาตรฐานรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารตามกระบวนการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม ฯลฯ 2. มาตรฐานที่กำหนดโดยภาครัฐร่วมกับผู้ผลิตและผู้บริโภค เช่น Dutch HACCP Standard เป็นระบบมาตรฐานที่จัดทำขึ้นระหว่างรัฐบาล ผู้แทนการค้า ผู้ค้าปลีก ผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหาร กับองค์กรผู้บริโภคของเนเธอร์แลนด์ โดยนำหลักการของระบบ HACCP จากทั่วโลกมาสร้างเป็นข้อกำหนดเฉพาะของประเทศ เพื่อควบคุมสินค้าอาหารที่วางจำหน่ายในท้องตลาดทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าให้มีคุณภาพและความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต 3. มาตรฐานอาหารเฉพาะกลุ่ม เพื่อสร้างความแตกต่างระหว่างสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ กับสินค้าอื่นๆ
“ผู้ประกอบการที่จะส่งสินค้าอาหารเข้าไปจำหน่ายในอียู ต้องศึกษาระบบมาตรฐานภาคเอกชนให้เข้าใจพร้อมทั้งพิจารณาความจำเป็นในการทำมาตรฐานเหล่านั้น โดยเฉพาะมาตรฐานที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดอียูได้ เช่น BRC IFS และ GLOBALGAP ทั้งนี้ แม้ว่ามาตรฐานต่างๆ ของอียู จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ช่วยให้การบริหารจัดการ Food Supply Chain ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ คุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับอาหารที่ปลอดภัย แต่มาตรฐานที่มีมากมายก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปของไทย เนื่องจากการปฏิบัติตามมาตรฐานต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง และการที่ได้รับการรับรอง มาตรฐานก็มิได้เป็นการรับประกันถึงความปลอดภัยทั้งหมดของสินค้า ซึ่งอียูมีระเบียบและกฎเกณฑ์เป็นกฎหมายควบคุมสินค้าที่จำหน่ายอยู่แล้ว แต่ก็ยินยอมให้ภาคเอกชนสามารถกำหนดมาตรฐานขึ้นเองได้โดยไม่สามารถหยุดยั้งหรือห้ามปรามได้” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ นายยุทธศักดิ์ ยังกล่าวอีกด้วยว่า การดำเนินการใช้มาตรฐานของภาคเอกชนของอียูอาจมีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะผู้ผลิตรายเล็กที่ได้รับผลกระทบทางลบมากกว่า เนื่องจากต้องมีต้นทุนเพิ่มมากขึ้นในการดำเนินการตามมาตรฐานที่สูง แต่อย่างไรก็ตามผู้ผลิตของไทยไม่ควรปฏิเสธมาตรฐาน สินค้าอาหารภาคเอกชนของอียูทั้งหมด เนื่องจากอาจพลาดโอกาสในการเข้าสู่ตลาดได้ และเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะได้พัฒนาและปรับปรุงตนเองให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลก
แม้ว่าอียูจะพยายามให้เหตุผลสนับสนุนแนวคิด Food Quality ว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยให้สมาชิกสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ แต่เมื่อมองลึกลงไปจะพบว่าการจัดทำและกำหนดให้สินค้าต้องได้รับการรับรองที่มากเกินไป ย่อมส่งผลกระทบให้เกิดภาระทั้งกับผู้ผลิตและผู้บริโภค เนื่องจากสินค้าคุณภาพที่มีฉลากกำกับย่อมมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไป และหากมองในมุมของมาตรฐานภาคเอกชนที่จัดทำขึ้นโดยกลุ่มผู้ค้าปลีก อาจนับได้ว่าเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าได้ในทางหนึ่ง เนื่องจากมีข้อกำหนดที่ผู้ผลิตต้องปฏิบัติตาม โดยต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หากแต่คุณภาพของสินค้าไม่ได้มีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากมาตรฐานภาคเอกชนมิได้มีความแตกต่างจากมาตรฐานของอียูที่กำหนดไว้มากนัก ซึ่งในประเด็นมาตรฐานภาคเอกชนนี้ หากกลุ่มผู้ประกอบการแต่ละประเทศสมาชิกมีการจัดทำมาตรฐานภาคเอกชนของตนเอง ย่อม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบรับรองมาตรฐานแต่ละแห่งด้วย ซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ผลิตทั้งในอียูและปีระเทศกำลังพัฒนา
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการที่น่าจะช่วยลดผลกระทบได้ทางหนึ่ง คือรวมกลุ่มสร้างพันธมิตรกับประเทศอื่นๆ ยกเรื่องให้ WTO พิจารณาเพิ่มความชัดเจนของหน่วยงานภาคเอกชน เพื่อลดช่องโหว่มิให้ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ นำมาใช้สร้างมาตฐานอันเป็นการกีดกันทางการค้า และนำประเด็นนี้เข้าสู่เวทีการการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนและ อียูด้วย รวมทั้งสร้างสัมพันธ์กับเอกชนที่เป็นคู่ค้าของตนให้แนบชิดเพื่อสามารถเจรจากันได้ง่ายขึ้นหรือสร้างเป็นเครือข่ายในการหารือข้ออุปสรรคต่างๆ ร่วมกัน
รายละเอียดเพิ่มเติม : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
สุขกมล งามสม โทรศัพท์ 0 89484 9894, 0 2691 6302-4, 0 2274 4961-2

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ