ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แถลงผลการดำเนินงานปี 2566 ของ EXIM BANK ว่า ณ สิ้นปี 2566 EXIM BANK มีวงเงินอนุมัติสินเชื่อใหม่ 70,628 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินของผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 10,792 ล้านบาท และมีสินเชื่อคงค้าง 175,604 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,273 ล้านบาท หรือ 4.32% เมื่อเทียบกับปีก่อน สูงที่สุดตั้งแต่เปิดดำเนินงานในปี 2537 ทั้งนี้ กว่า 2 ใน 3 เป็นยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการลงทุนจำนวนรวม 120,970 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.6% จากปีก่อน ตอกย้ำบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนา ซึ่งยกระดับเป็น "Green Development Bank" เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง ควบคู่กับการยกระดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้เติบโตสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance: ESG)
จากความมุ่งมั่นสนับสนุนการพัฒนาประเทศบนหลักการ ESG ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2566 EXIM BANK มียอดคงค้างสินเชื่อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเป็น 62,278 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 35.46% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด และเพิ่มขึ้นถึง 33.65% จากปีก่อน ในจำนวนนี้เป็น SMEs 12,644 ล้านบาท โดย EXIM BANK พัฒนาเครื่องมือทางการเงินสีเขียว (Green Finance) ด้านการระดมทุนด้วย SME Green Bond มูลค่า 3,500 ล้านบาท และด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมทางการเงิน เช่น สินเชื่อ Solar D-Carbon Financing สินเชื่อ EXIM Green Start เพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจสีเขียว ผลักดันให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)
นอกจากนี้ EXIM BANK ได้สานพลังกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ นำพาธุรกิจไทยขยายการค้าการลงทุนไปตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 EXIM BANK มียอดคงค้างสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศทั้งสิ้น 49,299 ล้านบาท เมื่อจำแนกเป็นรายตลาดที่สำคัญ ในปี 2566 มีสินเชื่อคงค้างในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และ ตลาดใหม่ (New Frontiers) 40,675 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 23.16% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด
ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและสถานการณ์ความไม่สงบในหลายประเทศ EXIM BANK ยังเร่งเสริมสร้างความมั่นใจและภูมิคุ้มกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยผ่านบริการประกันการส่งออกและการลงทุน โดย ณ สิ้นปี 2566 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 179,557 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.03% จากปีก่อน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
การมุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งด้านสินเชื่อและประกันของ EXIM BANK ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 มีจำนวนลูกค้า 5,826 ราย เป็นลูกค้า SMEs 82.49% คิดเป็น 22% ของผู้ส่งออก SMEs ไทย นอกจากนี้ EXIM BANK ยังสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างครบวงจร ผ่านการบ่มเพาะ ให้ความรู้ จับคู่ทางธุรกิจ และให้คำปรึกษาทางการเงิน โดย ณ สิ้นปี 2566 EXIM BANK ได้ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการสะสมกว่า 19,100 ราย สะท้อนการอยู่เคียงข้าง SMEs ไม่ทิ้งคนตัวเล็ก ดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ในเวทีโลกยุคใหม่ภายใต้มาตรฐานการค้าโลกและกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น
ขณะเดียวกัน EXIM BANK ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทางการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 8,157 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 เท่ากับ 4.65% และมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 15,556 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 190.70% ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2566 EXIM BANK มีกำไรจากการดำเนินงาน 3,210 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.27% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 456 ล้านบาท
สำหรับในปี 2567 EXIM BANK ยังคงเดินหน้าตอกย้ำบทบาทการเป็น Green Development Bank โดยมีแผนพัฒนาเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ หลายด้าน เช่น Blue Bond สนับสนุนธุรกิจที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ผลิตภัณฑ์สนับสนุนการลดคาร์บอน Scope ที่ 1-2-3 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง ทางอ้อมที่เกิดจากการใช้พลังงาน และทางอ้อมอื่น ๆ จากการดำเนินงานขององค์กร) และเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 รวมทั้งขยายขอบเขตการให้บริการ อาทิ วาณิชธนกิจ (Investment Banking) ให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นนอกเหนือจากสินเชื่อเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังเร่งยกระดับประสิทธิภาพองค์กร ด้วยการพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัล การปรับปรุงระบบงาน และการปรับโครงสร้างองค์กรโดยจัดแบ่งฝ่ายงานการตลาดตามความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น อันสะท้อนให้เห็นว่า EXIM BANK เป็นมากกว่าธนาคาร (Beyond Banking) ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนไปกับสังคมและสิ่งแวดล้อม
"ท่ามกลางปัจจัยท้าทายจากโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว EXIM BANK ยังเดินหน้าบทบาทที่เป็นมากกว่าธนาคาร ช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ให้ปรับตัวและแข่งขันได้ในเวทีโลก ควบคู่กับการกระตุ้นการส่งออกและการลงทุนของผู้ประกอบการไทยที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขยายพอร์ตสินเชื่อให้เป็นสีเขียวเพิ่มมากขึ้น ผลักดันการพัฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล ต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างยั่งยืน" ดร.รักษ์ กล่าว