ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานต้อนรับ นายเกียรติศักดิ์ พระวร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมคณะเกษตรกร ภายใต้โครงการ "การยกระดับ SME เกษตรหัวขบวน สู่แกนกลางเกษตรไทย" เพื่อการฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ ในโอกาสฝึกอบรมและศึกษาดูงานภารกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.)
โอกาสนี้ นายจิรศักดิ์ สุยาคำ ผอ.สำนักพัฒนา SME และ Startup ธ.ก.ส. บรรยายเกี่ยวกับกรอบความรู้ด้านบทบาทของหัวขบวน SME เกษตร การเสริมสร้างขีดความสามารถและการเชื่อมโยงเกษตรกรรายย่อย ในส่วน วว. โดย ดร.รัชนีวรรณ กุลจันทร์ ผอ.ห้องปฏิบัติการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย บรรยายให้ความรู้เรื่อง การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มยกระดับผลิตภัณฑ์ ดร.กุศล เอี่ยมทรัพย์ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ บรรยายเกี่ยวกับเกษตรมูลค่าสูง เพื่อยกระดับความสามารถการทำธุรกิจของเกษตรกรหัวขบวน และนางสาวมณีรัตน์ จัตตุลาภา นักวิจัยและผู้จัดการ ศูนย์บริการนวัตกรรมเวชสำอางแบบครบวงจร (ICOS) บรรยายการวิจัยพัฒนาและบริการผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสมุนไพร
นอกจากนี้ วว. ยังได้นำชมโครงสร้างพื้นฐาน วทน. ได้แก่ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (FISP) และศูนย์ความเป็นเลิศสาหร่าย (ALEC) โอกาสนี้ ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม คณะผู้บริหาร นักวิจัย วว. ร่วมให้การต้อนรับ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ณ วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี
ทั้งนี้ วว. และ ธ.ก.ส. ดำเนินการดังกล่าวภายใต้ MOU ความร่วมมือ เพื่อบูรณาการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ในการนำผลงานวิจัยและพัฒนาทางด้าน วทน. ไปใช้ผลิต แปรรูป และการตลาด เพื่อลดต้นทุนผลผลิต เพิ่มผลผลิต การผลิตที่ได้มาตรฐานรับรอง สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ และสร้างความเข้มแข็งมั่นคงยั่งยืนให้แก่เกษตร ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
จากการดำเนินงานร่วมกันมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในหลายด้าน อาทิ การลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมการพัฒนากลุ่มเกษตรกรหรือลูกค้าของ ธ.ก.ส. การอบรมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือการขอทุนสนับสนุนจากแหล่งทุน เช่น โครงการวิจัยต่อยอดนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตกล้วยเตี้ยต้านวาตภัยด้วยระบบการปลูกชิดในกล้วยไข่และกล้วยหอม ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์การมหาชน (สวก.) นำไปขยายผลในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น
ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเกษตรกรหัวขบวน จำนวน 80 ท่าน เพื่อยกระดับความรู้ การใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิตยกระดับธุรกิจ ช่วยเหลือฟื้นฟูเครือข่ายเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ จากภารกิจของ วว. ที่มีห้องปฏิบัติการและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในหลากหลายสาขา รวมกันเป็นระบบนิเวศนวัตกรรม ที่มีความพร้อมในการนำองค์ความรู้ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำ idea หรือความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ มาปรึกษาหารือกับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญของ วว. แล้วเข้าสู่กระบวนการทดลอง วิจัย พัฒนา เพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมั่นว่ากิจกรรมในโครงการจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับความรู้ และเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดี เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจของตนเอง สามารถนำนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ไปต่อยอดการดำเนินธุรกิจจนประสบผลสำเร็จ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตต่อไป