วางศิลาฤกษ์โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 7, 2008 11:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--กระทรวงพลังงาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน วางศิลาฤกษ์โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 แหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้าใจกลางเมือง ที่ช่วยลดการลงทุนและความสูญเสียในระบบส่ง รวมถึงลดโอกาสไฟตก-ไฟดับ พร้อมเสริมความมั่นคงในการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นของประเทศ
วันนี้ (7 พฤษภาคม 2551) พลโทหญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 โดยมีนายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. ) พร้อมคณะผู้บริหาร กฟผ. ให้การต้อนรับ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน และชุมชนจังหวัดนนทบุรี ให้เกียรติร่วมในพิธี
โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 มีสถานที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี อยู่ในบริเวณโรงไฟฟ้าพระนครเหนือเดิมที่หมดอายุลง และได้รื้อถอนออกไปเมื่อปี 2548 เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ขนาดกำลังผลิตติดตั้งรวม 704 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันแก๊ส จำนวน 2 เครื่อง ขนาดกำลังผลิตเครื่องละ 221 เมกะวัตต์ และเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำ จำนวน 1 เครื่อง ขนาดกำลังผลิต 262 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติจากสหภาพพม่าเป็นเชื้อเพลิง เป็นโรงไฟฟ้าที่ถูกบรรจุในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2547-2558 หรือ PDP 2004 และได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นตามความเจริญเติบโตด้านสังคม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม โดยมีบริษัทคู่สัญญาผู้รับจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้า ได้แก่ The Consortium of Sumitomo Corporation, Hitachi Ltd. และ บริษัทอิตาเลี่ยนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ด้วยงบลงทุน17,545 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 39 เดือน กำหนดแล้วเสร็จและสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในเดือนมีนาคม 2553
จุดเด่นของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 อยู่ใกล้ศูนย์กลางการใช้ไฟฟ้า จึงสามารถช่วยลดการลงทุนด้านระบบไฟฟ้า และลดความสูญเสียในระบบส่ง รวมถึงลดโอกาสการเกิดปัญหาไฟตก-ไฟดับ อีกทั้งเป็นโรงไฟฟ้าที่ถูกออกแบบให้สอดรับกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม รวมถึงมีมาตรการควบคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ครอบคลุมเรื่องคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ และคุณภาพเสียง ทั้งระยะก่อนก่อสร้าง ระยะก่อสร้าง และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ
สำหรับการสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนรอบโรงไฟฟ้า กฟผ. ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาด้านการส่งเสริมอาชีพ อาชีวอนามัย ศาสนา การศึกษา การจ้างแรงงานท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภค นอกจากนั้นเมื่อโรงไฟฟ้าก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถจ่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ปี 2553 จะมีการคืนกลับสิ่งดี ๆ ให้ชุมชนในรูปแบบกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า 1 สตางค์ต่อทุกหน่วยที่ขายไฟฟ้าได้ หรือประมาณ 40 ล้านบาทต่อปี เพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ