ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบหมายให้ ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นประธานต้อนรับ นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผอ. สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) พร้อมคณะ ในโอกาสเยี่ยมชมการดำเนินงาน ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชน อาคารคัดแยกขยะ ของ วว. (ตาลเดี่ยวโมเดล) ที่มีการขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติจริงในพื้นที่สระบุรี และเป็นต้นแบบในการนำผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการขยะชุมชน โดยนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่และเพิ่มมูลค่าขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมที่สำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ สอวช. ในโครงการพัฒนาระบบนิเวศเมืองนวัตกรรม Net Zero Emission สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ (Saraburi Sandbox) ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงนวัตกรรมระดับชาติและนานาชาติ โดยร่วมดำเนินการกับ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) และสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย (TCA) เพื่อพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของสระบุรี และเป็นพื้นที่นำร่องขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และขับเคลื่อนรายสาขา (Sector) อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับประเทศไทย
โอกาสนี้ นายเฉลิมชัย จีระพันธุ์ ผอ.ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม (ศนพ.) ดร..เรวดี อนุวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญวิจัย กลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน นางปริยะดา วิสุทธิแพทย์ ผอ.สำนักสื่อสารองค์กร นางสาวปัทมา ลิ่วเลิศมงคล ผอ.กองประชาสัมพันธ์ พร้อมคณะนักวิจัย ศนพ. ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ และบุคลากร วว. ร่วมให้การต้อนรับ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ณ จังหวัดสระบุรี
ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชนฯ วว. มีรูปแบบการบริหารจัดการขยะโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละขั้นตอนการผลิตและแปรรูป เป็นเทคโนโลยีที่ชุมชนเข้าถึงและสามารถดำเนินการได้เอง เป็นการทำงานแบบชุมชนมีส่วนร่วม ประกอบด้วยเทคโนโลยีหลัก 3 ส่วน คือ 1) ชุดคัดแยกขยะระบบกึ่งอัตโนมัติแบบเบ็ดเสร็จ พร้อมระบบกำจัดกลิ่นขยะและระบบทำความสะอาดถุงพลาสติก 2) ชุดคัดแยกชนิดและสีพลาสติกด้วยระบบ NIR และ Vision พร้อมระบบผลิตเกล็ดพลาสติกคุณภาพสูง และ 3) นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและการนำผลพลอยได้มาใช้ประโยชน์ใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มร่วมกับการผลิตสารปรับปรุงดินและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน
ทั้งนี้ วว. เป็นหน่วยงานแรกและหน่วยงานแกนหลักร่วมกับพันธมิตร ในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใต้ โครงการตาลเดี่ยวโมเดลจัดการขยะสู่พลังงานและสร้างรายได้เพื่อความยั่งยืนของชุมชน ปัจจุบัน ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชนฯ ของ วว. ได้เป็นต้นแบบในการจัดการขยะชุมชนที่เป็นรูปธรรม ซึ่งได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่างๆ เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเทคโนโลยีการจัดการขยะที่เหมาะสมของ วว. ไปปรับใช้ในการบริหารจัดการขยะในพื้นที่อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ วว. และพันธมิตร ได้ขยายขอบข่ายพื้นที่บริหารจัดการขยะชุมชนและรูปแบบดำเนินการสู่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ 1) การจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร (Material Recovery Facility : MRF) ณ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ซึ่งเป็นต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย สำหรับการคัดแยกและยกระดับคุณภาพวัสดุรีไซเคิลเหลือใช้ในชุมชนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีฝีมือคนไทย เพื่อแก้ปัญหาพลาสติกใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลในหลุมฝังกลบ โดยตั้งเป้านำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกว่า 1,000 ตันต่อปี พร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี 2) จัดตั้ง ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร (Smart Recycling Hub) นำร่องโมเดลต้นแบบในพื้นที่กรุงเทพฯร และขยายผลไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อขับเคลื่อนการจัดการพลาสติกและวัสดุเหลือใช้อย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าเก็บพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบให้ได้ 50,000 ตันต่อปี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการด้านการบริหารจัดการขยะชุมชน วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 เว็บไซต์ www.tistr.or.th อีเมล tistr@tistr.or.th หรือที่ "วว. JUMP" https://tistrservices.tistr.or.th/