พฤติกรรมรุนแรงและก้าวร้าวในเด็ก ทุกคนต้องร่วมมือ ช่วยกัน เพียงแค่เริ่มต้นที่ "ครอบครัว

ข่าวทั่วไป Tuesday February 13, 2024 15:37 —ThaiPR.net

พฤติกรรมรุนแรงและก้าวร้าวในเด็ก ทุกคนต้องร่วมมือ ช่วยกัน เพียงแค่เริ่มต้นที่

ข่าวเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทและการใช้ความรุนแรงที่ปรากฎขึ้นไม่เว้นวันในหน้าสื่อต่างๆ ทั้งการสาดใส่คำพูดร้ายๆ ใส่กันซึ่งหน้าหรือผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือการใช้กำลัง  การใช้อาวุธ  ทำร้ายกันจนถึงแก่ชีวิต  ได้สร้างความกังวลใจให้กับทุกคนในสังคมไทย เชื่อเหลือเกินว่าคงไม่มีใครต้องการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยการใช้ความรุนแรงต่อกัน

สำหรับสาเหตุของพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง เกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่มีความเกี่ยวโยงกันอย่างซับซ้อน ทั้งปัจจัยส่วนตัว เช่น พันธุกรรม พื้นอารมณ์ เชาว์ปัญญา และความผิดปกติของสมอง เป็นต้น ปัจจัยด้านครอบครัวและการเลี้ยงดู และปัจจัยด้านสังคมที่มีการแก่งแย่งแข่งขันสูงและมีการใช้ความรุนแรง  ไม่ว่าจะเป็นทางวาจาหรือทางร่างกาย  รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทำให้เด็กเล่นเกมที่มีความรุนแรงมากขึ้น เข้าถึงข้อมูลความรุนแรงต่าง ๆ ทางสื่อสังคมออนไลน์ และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกห่างเหินกันมากขึ้น  เพียงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งอาจทำให้โอกาสเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก  แต่หากมีหลาย ๆ ปัจจัยประกอบกัน โอกาสเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ 

ปัจจัยที่สำคัญมากกว่าอย่างอื่นคงจะเป็นเรื่องของการเลี้ยงดู  หากศึกษาลงลึกถึงประวัติชีวิตแล้ว จะพบว่าคนที่มีพฤติกรรมไปในทางก้าวร้าวและใช้ความรุนแรงเป็นประจำมักเป็นผลพวงมาจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ที่ทำให้ขาดความมั่นคงทางจิตใจ  เกิดความเครียดหรือรู้สึกโกรธได้ง่าย มีความบกพร่องในการควบคุมอารมณ์ตนเองให้สงบลง  ขาดความยับยั้งชั่งใจ และไม่สามารถประคับประคองตัวเองให้ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบอารมณ์และความรู้สึกได้อย่างเหมาะสม  คือมีลักษณะที่เรียกว่ามี EQ ต่ำ ทำให้ไม่สามารถควบคุมอารมณ์การตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดี และมักเลือกใช้กำลังมากกว่า   ทั้งหมดเหล่านี้เกี่ยวโยงมาจากการเลี้ยงดูตั้งแต่ "วัยเด็ก"

ดังนั้น การจะสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากคนที่มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและการใช้ความรุนแรงต่อกันในวันนี้จึงจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่ "ครอบครัว"

  • เริ่มจากพ่อแม่ ต้องสร้างให้ลูกมีความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคงต่อพ่อแม่ ด้วยการให้เวลาอยู่กับลูกอย่างใกล้ชิดมากที่สุดที่จะทำได้ พูดคุย เล่น กอด สัมผัส กับลูก ในบรรยากาศที่สงบสุขและ

ปลอดภัย  โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีแรกของชีวิต พ่อแม่ต้องมีจิตใจที่พร้อมเสมอสำหรับลูก ใส่ใจและให้ความสนใจในสิ่งที่ลูกทำ  เข้าใจและยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น  พร้อมจะอยู่เคียงข้างเพื่อให้

ความอบอุ่นใจตลอดเวลา  เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าตนเองเป็นคนที่มีคุณค่า เชื่อมั่นและไว้วางใจต่อพ่อแม่ และมองโลกในทางบวก  ประสบการณ์ดังกล่าวจะสร้างรากฐานทางจิตใจที่มั่นคงต่อไปตลอดชีวิต

  • การเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลยทำให้เด็กขาดความมั่นคงทางจิตใจ เวลามีเรื่องทุกข์ใจเล็กน้อยก็จะรู้สึกเครียดมาก จนไม่สามารถควบคุมหรือสงบอารมณ์ตนเองได้ การเลี้ยงดูแบบควบคุมอย่างเข้มงวดมากเกินไป มักทำให้เด็กต่อต้าน โดยเฉพาะหากมีการใช้ความรุนแรงลงโทษด้วย ก็ยิ่งทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงได้ง่าย ส่วนการเลี้ยงดูแบบตามใจมากจนเกินไปก็จะมีผลเสีย คือทำให้เด็กเป็นคนเอาแต่ใจ ขาดการควบคุมตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการต่าง ๆ หรือเรื่องการควบคุมอารมณ์ ทำให้เป็นคนที่ก้าวร้าวรุนแรงได้เช่นเดียวกัน การเลี้ยงดูที่เหมาะสมคือ พ่อแม่ต้องให้เวลาสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่นและมั่นคง ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เล่นสนุกด้วยกัน เมื่อลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ได้แก่ ทำร้ายผู้อื่น ทำร้ายตัวเอง หรือทำข้าวของเสียหาย พ่อแม่ต้องตักเตือนและห้ามปรามอย่างหนักแน่นจริงจัง แนะนำด้วยเหตุผล แต่ไม่ใช้ความรุนแรง
  • พ่อแม่ต้องช่วยกันสร้างความสงบสุขในครอบครัว สภาพครอบครัวที่แตกแยกไม่เข้าใจกัน มีปากเสียงพูดจาไม่ดีใส่กัน หรือใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายกัน จะสร้างความเครียดและวิตกกังวลจนทำให้ลูกมีจิตใจที่ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ และลูกจะเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและรุนแรงจากพ่อแม่นั่นเอง
  • พ่อแม่ต้องคอยติดตามสภาพแวดล้อมรอบตัวลูกที่อาจจะมีผลต่อพฤติกรรม คอยพูดคุยกับลูกเรื่องเพื่อน ทั้งเรื่องดี เช่นการเล่นสนุกกับเพื่อน และเรื่องกลั่นแกล้งรังแกกันหรือการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน ลูกได้พบเห็นความรุนแรงในโรงเรียนหรือสังคมอย่างไรบ้างหรือไม่ การพูดคุยถึงข่าวสารหรือการเข้าถึงข้อมูลในสือสังคมออนไลน์ที่ลูกติดตามหรือให้ความสนใจ เด็กในยุคดิจิทัลสามารถเข้าถึงความรุนแรงรูปแบบต่าง ๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้ง่ายมาก รวมทั้งการเล่นเกมที่มีความรุนแรงด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กชินชากับความรุนแรง เด็กจะซึมซับและบ่มเพาะพฤติกรรมก้าวร้าวและรุนแรงได้โดยง่าย พ่อแม่จึงจำเป็นต้องคอยสอดส่องดูแลและให้คำแนะนำที่ถูกต้องกับลูก
  • หมั่นสังเกตพฤติกรรม-อารมณ์ของลูก หากลูกเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง เอาแต่ใจตนเอง หรือมีความเครียด อารมณ์เสียหงุดหงิดง่ายอยู่บ่อยๆ และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ พ่อแม่ลองทบทวนและปรับวิธีการเลี้ยงลูกตามคำแนะนำข้างต้นดูก่อน หากยังไม่ดีขึ้นหรือมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น พ่อแม่สมควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนที่ปัญหาต่าง ๆ จะบานปลายมากขึ้น

กล่าวได้ว่า คุณพ่อคุณแม่ในยุคนี้ จำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดูแลเอาใจใส่และเลือกใช้วิธีการเลี้ยงดูลูกอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการป้องกันและยับยั้งหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็กไม่ให้ติดตัวไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นการให้ความสำคัญกับรากฐานครอบครัวที่ดีจะเป็นสิ่งที่ทำให้มั่นใจได้ว่าเด็ก ๆ ในวันนี้จะเป็นอนาคตที่ดีให้กับสังคม

หากพบว่าบุตรหลานมีพฤติกรรมรุนแรงควรรับมืออย่างไร

เมื่อไหร่ที่ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลคนอื่น เช่นครู รู้สึกว่าเด็กมีพฤติกรรมแปลกไป ควรจะพาไปประเมินอย่างละเอียดโดยจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา ซึ่งการเข้ารับการรักษาเร็ว สามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดความรุนแรงได้มาก โดยเป้าหมายของการรักษา คือช่วยให้เด็กเรียนรู้การควบคุมความโกรธ การแสดงออกความไม่พอใจได้อย่างเหมาะสม ให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองและยอมรับผลของการกระทำนั้น เช่น กำหนดข้อตกลงบทลงโทษของการทำผิด และคุยต่อว่าสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อไปอย่างไรหากอยู่ในสังคมทั้งที่ใกล้ตัวและสังคมที่ใหญ่ขึ้นไป นอกจากนี้เรื่องปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาที่โรงเรียน ปัญหาของสังคมรอบข้างก็ควรได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม

รศ.นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาล BMHH : Bangkok Mental Health Hospital


แท็ก ครอบครัว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ