กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--สมาคมกุ้งไทย
ช่วงเช้าวันนี้ (7 พฤษภาคม 2551) นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย พร้อมด้วย นายเอกพจน์ ยอดพินิจ เลขาธิการสมาคมฯ นายพิชญพันธุ์ สุวรรณรัตน์ อุปนายกสมาคมฯ นายโสภณ เอ็งสุวรรณ และนายบรรจง นิสภวณิชย์ กรรมการบริหารสมาคมฯ และผู้แทนกว่า 10 คน เดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นาย เอริค จี. จอห์น (Mr. Eric G. John) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ที่สถานทูตสหรัฐฯ เพื่อขอความเป็นธรรม หลังถูกให้ข่าวบิดเบือน เจตนาทำลายอุตสาหกรรมกุ้งไทย
นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า จากการที่เมื่อ 23 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา สื่อต่างประเทศได้ประโคมข่าวเกี่ยวกับการทารุณกรรมแรงงานในอุตสาหกรรมกุ้งของเอเชีย โดยระบุว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่พบได้ใน 2 ประเทศ คือ ไทย และบังคลาเทศ มีการประณามอุตสาหกรรมกุ้งว่าใช้งานเยี่ยงทาส โดยกล่าวอ้างถึงข้อมูลจากรายงานของ องค์กรที่เรียกตัวเองว่าเอ็นจีโอ โซลิดาลิตี้ เซ็นเตอร์ (Solidarity Center) ทำรายงานที่สรุปจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับแรงงานไม่กี่คน ทั้งมีการออกข่าวถึง 4 เหตุผลที่ไม่ควรบริโภคกุ้งนำเข้าว่า เป็นกุ้งที่มาจากโรงงานแปรรูปกุ้งที่ 1) มีการทำร้ายร่างกาย/ทารุณกรรมแรงงาน 2) ใช้แรงงานเด็ก 3) ให้ค่าจ้างต่ำ 4) มีสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อการทำงาน นั้นว่า เป็นเรื่องสกปรก รับไม่ได้ เพราะเจตนาทำลายอุตสาหกรรมกุ้งไทยทั้งหมด ถือเป็นข้อกล่าวหาร้ายแรง ไม่ได้เป็นข้อเท็จจริง เป็นข้อมูลที่อยู่บนพื้นฐานที่จงใจทำลายชื่อเสียง/ภาพพจน์ที่ดี สร้างความเสื่อมเสีย และพยายามดิสเครดิตกุ้งไทยและประเทศไทย เป็นการมุ่งทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้ากุ้งไทย ทั้งที่เป็นที่ทราบกันดี และ ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในตลาดต่างประเทศว่า อุตสาหกรรมการผลิตกุ้งของไทยนั้น ผลิตกุ้งที่มีคุณภาพที่มีความปลอดภัยสูงเป็นที่หนึ่งของโลก ไทยเป็นผู้นำในเทคโนโลยีด้านการเพาะเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนา ในแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลาดไหนที่ว่าเข้มงวดที่สุด กุ้งไทยเท่านั้นที่ส่งเข้าไปได้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์สินค้ากุ้งของไทยผ่านการแปรรูปจากโรงงาน-ห้องเย็นแปรรูปกุ้งที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยที่ดีที่สุดในโลก ...ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เอ็นจีโอฯกล่าวหา”
“ที่สำคัญ รง.แปรรูปกุ้งของไทย ที่มีอยู่ประมาณ 110-120 รายนี้ ผลิต-แปรรูปสินค้า และผลิตภัณฑ์กุ้งเพื่อส่งออก โดยมีตลาดที่สำคัญ คือ อเมริกา อียู ญี่ปุ่น และอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นตลาดมาตรฐานสูง มีความเข้มงวดสูงมากในการนำเข้ากุ้ง มีการส่งคนทั้งจากเอกชนหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมาตรวจสอบรง.อย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันภาครัฐในส่วนของไทย ได้แก่ กองตรวจสอบรับรองมาตรฐานคุณภาพสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ กรมประมง ก.เกษตรฯ ก็ได้ตรวจสอบรับรองโรงงาน และผลิตภัณฑ์สินค้ากุ้งส่งออกอย่างเข้มแข็ง จึงเป็นไปไม่ได้ว่าผู้ซื้อกุ้งของไทยจะได้บริโภคกุ้งจากโรงงานที่ใช้แรงงานเยี่ยงทาส และอื่นๆ ตามข้อกล่าวอ้าง ? รง. แปรรูปกุ้งไทย ขึ้นทะเบียน ได้รับการอนุญาตให้ก่อสร้างได้ตาม “พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535” อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลของกรมโรงงาน ก.อุตสาหกรรม ที่มีข้อกำหนดต่างๆ เพื่อคุ้มครองสถานที่ ความปลอดภัยในการดำเนินงาน ฯลฯ รง.แปรรูปกุ้งทุกแห่งเบื้องต้นต้องผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิต GMP , HACCP หรือไม่ก็ผ่าน มาตรฐานสากล เช่น ISO 9001, IFS, BRC Global Standard-Food, HALAL, ISO 14001-Environment Management System, Social Accountability (SA 8000), Thai Labor Standard (มาตรฐานแรงงานไทย-มรท), OHSAS / TIS 18001 (Occupational Health and Safety System) หรือ ACC (Aquaculture Facility Certification) ประเทศไทยมีการคุ้มครองการใช้แรงงาน /แรงงานเด็ก ตามพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 การใช้แรงงานเด็ก ค่าตอบแทนการทำงาน สวัสดิการ ความปลอดภัยในการทำงาน ค่าชดเชยการเลิกจ้าง และอื่นๆ ทั้งมี พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 มาตรา 39 ที่กำหนดโทษสำหรับนายจ้างที่ไม่มีใบอนุญาตการจ้างแรงงานต่างด้าวไว้สูงสุดคือจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ และพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 81 ได้กำหนดโทษสำหรับคนต่างด้าวที่ไม่ได้รับการอนุญาตในการพำนักในประเทศไทยไว้สูงสุดคือจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ และ วันนี้ประเทศไทย รัฐบาลได้ดูแลเรื่องแรงงานอย่างเต็มที่ แรงงานได้รับค่าแรงขั้นต่ำ ในอัตราวันละ 144-194 บาท/คน (ขึ้นกับพื้นที่) ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ดีกว่าหลายประเทศมาก เช่น เวียดนาม (75-96 บาท/วัน) , อินเดีย (80-100 บาท/วัน) เป็นต้น
“การที่พวกกระผม ผู้แทนสมาคมกุ้งไทยในฐานะตัวแทนของ ผู้ประกอบการโรงเพาะฟักลูกกุ้ง เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และผู้แปรรูปส่งออกของประเทศ ยื่นจดหมายเปิดผนึก ถึงพณฯ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ครั้งนี้ เพื่อขอความช่วยเหลือ ขอความเป็นธรรมจาก พณฯ เนื่องจากขณะนี้ด้วยอิทธิพลของสื่อ ไม่ว่าจะเป็น CNN, Reuter ฯลฯ ซึ่งเป็นสื่อที่ทรงอำนาจ ที่น่าภาคภูมิใจของคนอเมริกัน ได้ตกเป็นเครื่องมือเผยแพร่ข้อมูลทางเดียวที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงของพวกที่เรียกตัวเองว่าเอ็นจีโอ ทำลายชื่อเสียงอุตสาหกรรมกุ้งไทยไปแล้ว สมาคมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาจะช่วยออกข่าว ให้ข้อเท็จจริงข้างต้นกับ NGO กลุ่มดังกล่าว และทำความเข้าใจ ให้ความจริงกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และชาวโลกทราบว่า อุตสาหกรรมกุ้งไทยไม่ได้ทารุณกรรมแรงงานเยี่ยงทาส ตามข้อกล่าวอ้าง ไทยเป็นประเทศที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งของโลก ในแนวทางเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีจรรยาบรรณ สินค้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทยคุณภาพสูง มีความปลอดภัยอาหารสูงที่สุด สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ” นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าว
“เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการออกมาโจมตีกล่าวหา เรื่องการใช้แรงงานฯของโทย โดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า NGO เสมอ หลังเทศกาลสงกรานต์ ในช่วงก่อนถึงวันแรงงาน 1 พ.ค. ของทุกปี เพื่อดิสเครดิตประเทศไทย หรือเพื่อการอื่นๆ มีการใช้ข้อมูล/ภาพเก่า บทสัมภาษณ์ มากล่าวอ้าง นำเสนอข้อมูล/ความคิดเห็นด้านเดียว และคลาดเคลื่อน” นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวทิ้งท้าย ทั้งบอกว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงกุ้งยังไม่ทราบเรื่องกันทั้งหมด แต่เชื่อว่าเรื่องนี้คงไม่ยอมกันง่ายๆ มีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้แน่นอน เพราะจงใจมาทุบหม้อข้าว เจตนาเล่นงานกุ้งไทยชัดเจน และเร็วๆนี้ สมาคมกุ้งไทยจะทำหนังสือถึง ก.แรงงาน ก.ต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ช่วย และตอบโต้ในความไม่เป็นธรรมดังกล่าวนี้ด้วย ”
นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศํย
นายกสมาคมกุ้งไทย
โทร. 089-8302448