KSAM มองปี 2567 ตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนาโตโดดเด่น พร้อมพัฒนาระบบออนไลน์รองรับผู้ลงทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 15, 2024 15:22 —ThaiPR.net

KSAM มองปี 2567 ตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนาโตโดดเด่น พร้อมพัฒนาระบบออนไลน์รองรับผู้ลงทุน

นางสุภาพร ลีนะบรรจง กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด(บลจ.กรุงศรี) เปิดเผยว่า ปีนี้บรรยากาศการลงทุนทั่วโลกมีความชัดเจนมากขึ้น Earnings ของตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยตลาดคาดว่าจะโตที่ 10% ซึ่งตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนายังมีแนวโน้มฟื้นตัวจากแรงหนุนของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าฝั่งประเทศที่พัฒนาแล้ว แนะลงทุนกองทุนตรสารหนี้ กองทุนหุ้นประเทศกำลังพัฒนา และหุ้นกลุ่มที่มีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว

"สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปีนี้ IMF คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มขยายตัวได้ 2.9% โดยเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มขยายตัวได้ 1.4% นำโดยสหรัฐ ในส่วนของ GDP กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มเติบโต 4% ซึ่งปรับลดจากคาดการณ์เดิมจากความกังวลในภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศจีน อย่างไรตามความเสี่ยงที่อาจจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกก็น้อยลงเช่นกัน ด้านค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าจากการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ นอกจากนี้คาดว่าไทยจะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้มากขึ้นจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ดีขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยคาดว่าสิ้นปี 2567 เงินบาทจะอยู่ที่ 34.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ"

"แนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ถือเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนาเพราะมีแนวโน้มที่เม็ดเงินลงทุนจะไหลเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนายังมีแนวโน้มฟื้นตัวจากแรงหนุนของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าฝั่งประเทศที่พัฒนาแล้ว และการฟื้นตัวของ Earnings ช่วยสนับสนุนให้ตลาดหุ้นโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย" นางสุภาพร กล่าว

นายศิระ คล่องวิชา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการลงทุน บลจ.กรุงศรี เปิดเผยว่า "ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ประกอบด้วย โอกาสในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ลดลงเหลือประมาณ 50% ภาพรวมอัตราดอกเบี้ยนโยบายเกือบทุกประเทศทั่วโลกในปีนี้จะเริ่มเข้าสู่วัฎจักรอัตราดอกเบี้ยขาลง เนื่องจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อได้ทยอยปรับตัวลดลงตามลำดับ ขณะที่ความตึงตัวของตลาดแรงงานเริ่มคลี่คลายลงเช่นกัน คาดว่าเฟดจะยังคงมีการปรับลดปริมาณถือครองพันธบัตร ซึ่งถือได้ว่ายังคงใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวเหลืออยู่บ้าง "

"อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ การเลือกตั้งของสหรัฐ ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากนี้ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับช่วงเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งแรก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงรวมตลอดทั้งปีที่คาดว่าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 75 - 150 bps นั้น ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกมีความผันผวนรุนแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ที่อาจทำให้เกิดแรงเทขายขึ้นได้เป็นระยะ ตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่จะประกาศออกมาได้เช่นกัน"

"ด้านเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มขยายตัว 3.7% (ยังไม่รวมผลของนโยบาย Digital Wallet) โดยการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะขยายตัว 3.8% ภาคการส่งออกมีแนวโน้มเติบโต 5.3% ทั้งนี้ กลุ่มประเทศในตลาดหลักที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น และอาเซียน ขณะที่การส่งออกไปยังจีน และยุโรป ปรับตัวลดลง การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ส่วนเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 0.47% ในปีนี้ จากระดับ 1.3% ในปีที่แล้ว ในส่วนของปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคการส่งออก และจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความไม่แน่นอนของนโยบาย Digital Wallet และภัยแล้งจากเอลนีโญ"

"สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปี 2567 คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหนึ่งครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ขึ้นกับภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นหลัก"

"ตลาดหุ้นไทยปี 2567 ยังมีความน่าสนใจจากการปรับตัวลดลงมาและมีอัตราการเติบโตของผลกำไรบริษัทจดทะเบียนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566  โดยปัจจัยบวกสำคัญในระยะสั้นคือความชัดเจนในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยเฉพาะนโยบายเงินดิจิทัล คาดการณ์ว่าแนวโน้มหุ้นไทยจะได้รับผลบวกจากการผ่อนคลายนโยบายการเงิน รวมถึงค่าเงินบาทที่เริ่มมีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้น และมีเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติที่กลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยหลังจากขายออกไปกว่า 1.92 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า SET Index ณ สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ระดับ 1,552 จุด หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นใน 9.61% จากสิ้นปี 2566 บนสมมติฐาน EPS ที่ 96.8 บาท และค่า PER ที่ 16 เท่า "

"แนวโน้มการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศปี 2567 มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นหากเปรียบเทียบกับช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาแต่อาจมีความผันผวนอยู่บ้าง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ได้ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับที่น่าลงทุนมากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของไทยปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินไปและอยู่ในระดับขอบล่างของเงินเฟ้อเป้าหมายที่ธปท.กำหนดไว้ที่ร้อยละ 1.00 - 3.00 ดังนั้นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนมีโอกาสสร้างอัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้อีก การปรับอายุคงเหลือเฉลี่ยกองทุนด้วย กลยุทธ์เชิงรุกช่วยเพิ่มโอกาสสร้างอัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับกองทุนได้จากความผันผวนของตลาดตลอดทั้งปี ทั้งนี้ แนะนำให้เพิ่มการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือเฉลี่ยที่ยาวขึ้นควบคู่ไปกับการลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนคุณภาพดี"

"ธีมการลงทุนที่น่าสนใจในปี 2567 ได้แก่ 1.การลงทุนในตราสารหนี้เพราะได้ประโยชน์จากการที่ดอกเบี้ยสหรัฐกลับตัวเป็นขาลง โดยมีกองทุนแนะนำ คือ KFTRB และ KF-CSINCOM 2.การลงทุนในตลาดประเทศกำลังพัฒนาซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัว โดยมีกองทุนแนะนำ คือ KF-EM, KFINDIA และ KFVIET 3.การลงทุนหุ้นคุณภาพสูงที่มีหนี้อยู่ในระดับต่ำ มีอัตราการทำกำไรสูง มีกระแสเงินสดดี และมีความทนทานในสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ดี โดยมีกองทุนแนะนำ คือ KFGBRAND 4.การลงทุนในกลุ่มที่มีปัจจัยบวกโดดเด่นเฉพาะตัว เช่น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ที่ได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการที่มีแนวโน้มเติบโตได้สูงกว่าตลาดโดยรวม รวมถึงปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตในระยะยาวเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์และการฟื้นตัวของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ โดยมีกองทุนแนะนำ คือ KFHTECH 5.การลงทุนในหุ้นไทยที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดี"

 "สำหรับการจัดพอร์ตการลงทุนในปี 2567 นั้น นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์เพื่อลดความผันผวนและเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ และลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ แนะนำให้นักลงทุนสร้างพอร์ตการลงทุนหลัก (Core Portfolio) ด้วยกองทุนกรุงศรีThe One ทางเลือกที่ตอบทุกเป้าหมายผลตอบแทน โดดเด่นด้วยการผสานจุดแข็งของกลุ่มกรุงศรีและพันธมิตรด้านการลงทุนระดับโลก มีการคัดสรรกองทุนเด่นที่มีผลงานดีเข้ามาอยู่ในพอร์ตการลงทุน มีการกระจายการลงทุนทั่วโลก ปรับพอร์ตอย่างรวดเร็ว โดยกรุงศรี The One มี 3 กองทุนให้เลือกลงทุนตามเป้าหมายผลตอบแทนที่ต้องการและระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ มีตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำไปจนถึงความเสี่ยงสูง ได้แก่  KF1MILD ที่มีเป้าหมายผลตอบแทนในการชนะเงินเฟ้อ KF1MEAN  เน้นรักษาสมดุลของผลตอบแทนและความเสี่ยง และ KF1MAX ที่เน้นโอกาสสร้างผลตอบแทนเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ การกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายและลงทุนตามธีมที่โดดเด่นจะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างการเติบโตที่ดีของพอร์ตการลงทุนในระยะยาวได้" นายศิระ กล่าว

นางสุภาพร กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในปี 2566 ที่ผ่านมานั้น กองทุนรวมยังคงเป็นธุรกิจหลักของบริษัท โดยมี AUM ประมาณ 73% ของ AUM รวม ซึ่งการเติบโตที่แข็งแกร่งในปีที่ผ่านมาได้รับประโยชน์จากเงินลงทุนที่ไหลเข้าอย่างต่อเนื่องมูลค่ารวมกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะเงินลงทุนในกองทุน Term fund กองทุน FIF และกลุ่มกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ทั้งนี้ กองทุนรวมของ บลจ.กรุงศรี มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของอุตสาหกรรม มีอัตราการเติบโตที่ 6% (อุตสาหกรรม 5.46%) ด้านฐานลูกค้าก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นเกือบ 4 หมื่นบัญชี คิดเป็น 9% ของฐานลูกค้าในปีก่อน นอกจากนี้ในปี 2566 ที่ผ่านมา บลจ.กรุงศรี ยังได้รับมอบรางวัลจากสถาบันชั้นนำระดับสากล จำนวนรวมทั้งสิ้น 9 รางวัล ได้แก่ รางวัลบริษัทจัดการกองทุนรวมดีเด่น ผู้จัดการกองทุนรวมดีเด่น รางวัลกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพประเภทกองทุนตราสารหนี้ดีเด่นจากกองทุน KFMTFIRMF และรางวัลกองทุนรวมเพื่อการออมดีเด่นจากกองทุน KFENS50SSF สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงศักยภาพและความเป็นมืออาชีพด้านการบริหารจัดการกองทุน" (ข้อมูล : AIMC / บลจ.กรุงศรี ณ 28 ธ.ค. 66)

"สำหรับปี 2567 บริษัทยังคงมุ่งเน้นการบริหารจัดการกองทุนควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม ให้ความสำคัญกับการขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในวงกว้าง เน้นการพัฒนาบริการในรูปแบบดิจิทัล โดยเฉพาะบน @ccess Mobile เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทั้งลูกค้ากองทุนรวมและลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งเพิ่มตัวแทนขายอิสระให้มากขึ้นเช่นกัน สำหรับแผนการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในปีนี้จะมีการเสนอกองทุนขาย Thai ESG และกองทุนกลุ่ม FIF ที่มีความน่าสนใจและเหมาะกับสภาวะตลาดเพิ่มเติม โดยเร็วๆ นี้จะมีการเสนอขายกองทุนที่มีการกระจายลงทุนในหุ้นโลกคุณภาพดี เป็นต้น" นางสุภาพร กล่าว

นักลงทุนสามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี จำกัด โทร. 02-657-5757 หรือ เว็บไซต์ www.krungsriasset.com หรือ ติดต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา

SSF เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออม | RMF ลงทุนเพื่อเกษียณอายุ l กองทุน Thai ESG เป็นกองทุนที่ส่งเสริมการออมระยะยาว และสนับสนุนการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย

ผู้ถือหน่วยลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หากไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน

กองทุน KF-EM, KFINDIA, KFVIET, KFGBRAND, KF1MILD, KF1MEAN, KF1MAX ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน จึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้

ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต การจัดอันดับดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดอันดับของสมาคมบริษัทจัดการลงทุนแต่อย่างใด

รางวัลที่ บลจ.กรุงศรี ได้รับในปี 2566 จำนวน 9 รางวัล ประกอบด้วย

รางวัล Best Fund with the Optimal Information Ratio, Thailand จาก Alpha Southeast Asia รางวัล Best Bond Manager, Thailand จาก Asia Asset Management รางวัล Best Asset Manager, Thailand จาก Citywire Asia รางวัล Asset Management Company of the Year, Thailand และ รางวัล Pension Fund Manager of the Year, Thailand จาก Global Banking & Finance Review (UK) รางวัล Best Mutual Fund House, Thailand จาก International Finance รางวัล Asset Management Company of the Year, Thailand จาก The Asset รางวัล Morningstar Awards - Retirement Mutual Fund - Fixed-Income for KFMTFIRMF จาก Morningstar และรางวัล Mutual Fund of the Year: Best SSF Equity Fund for KFENS50SSF จาก Money & Banking Awards 2023


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ