กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานจังหวัดจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มระดับจังหวัด/อำเภอ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจัดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำศูนย์ฯ เพื่อติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยจะนำข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์ ประเมิน และคาดการณ์แนวโน้มการเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ จะได้แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมความพร้อมในการรับมือ และอพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนประมาณสัปดาห์ที่ ๒ ของเดือนพฤษภาคม ซึ่งเร็วกว่าปกติประมาณ ๑ สัปดาห์ โดยร่องฝนที่พาดผ่านประเทศไทย ทำให้ทุกพื้นที่มีฝนตกกระจายเป็นบริเวณกว้าง จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสานให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มระดับจังหวัด/อำเภอ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมจัดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำศูนย์ฯ เพื่อเตรียมรับมือป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้ดำเนินการตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยจากอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม รวมทั้งข้อมูลพื้นที่ปลอดภัย เพื่อรองรับการอพยพ และใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำแผนเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ระดับจังหวัด เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง และสอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่จัดเตรียมกำลังคน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือสื่อสาร และโทรคมนาคมทั้งข่ายหลักและข่ายสำรอง ยานพาหนะ เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ และเครื่องมือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้พร้อมใช้งานได้ทันที จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา หรือคำเตือนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างใกล้ชิด ตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยให้นำข้อมูลพยากรณ์อากาศ แผนที่อากาศ ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำสายหลัก จากเว็ปไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาวิเคราะห์ ประเมิน และคาดการณ์แนวโน้มสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ ตลอดจนจัดให้มีระบบการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ผ่านเครือข่ายการสื่อสารทุกประเภทในพื้นที่ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ และสามารถอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างทันท่วงที และเตรียมพร้อมในการเผชิญเหตุการณ์ด้วยการเตรียมสำรองอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค และอุปกรณ์ฉุกเฉิน พร้อมทั้งติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา หมั่นสังเกตสัญญาณความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ตลอดจนปฏิบัติตามคำเตือนและคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด อีกทั้งประสานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดหาพื้นที่รองรับน้ำ สนับสนุนงบประมาณดำเนินการล้างท่อระบายน้ำ ขุดลอกคู คลอง แหล่งน้ำสาธารณะ รวมทั้งกำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำ ติดตั้งเครื่องแจ้งเตือนภัยและเครื่องวัดปริมาณน้ำฝน ในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมทั้งประสานให้อาสาสมัครป้องกันภัยดินถล่ม(มิสเตอร์เตือนภัย)เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ตรวจสอบข้อมูลปริมาณน้ำฝนและระดับน้ำอย่างใกล้ชิด หากมีแนวโน้มว่าจะเกิดน้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในพื้นที่ให้แจ้งเตือนราษฎรในพื้นที่เสี่ยงภัยอพยพออกจากพื้นที่อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้ความช่วยเหลือต่อไป