กระทรวงดีอี - ดีป้า เดินหน้าขับเคลื่อนกลไกสร้างระบบนิเวศดิจิทัล ติดปีกเกษตรกรไทยบินไกลกว่าเดิม นำร่องกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมส่งมอบโดรนแก่ 160 ชุมชน เผยภาพรวมโครงการภายใน 1 ปีเกิด 50 ศูนย์ซ่อมโดรน ครอบคลุม 10,000 ครัวเรือน กระตุ้นมูลค่าเศรษฐกิจทะลุ 20,000 ล้านบาท
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) เปิดเผยว่า ภาคเกษตรกรรมมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อีกทั้งเป็นแหล่งแรงงาน ขนาดใหญ่ แต่กลับมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมเพียง 6% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ประสบปัญหาเรื่องของต้นทุนการเพาะปลูก ขาดแคลนแรงงาน และโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งถือเป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพิ่มรายได้ และลดต้นทุนแก่เกษตรกร
จากการสำรวจโดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำโดรนเพื่อการเกษตรที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องมาประยุกต์ใช้เพียง 9,063 ลำ ขณะที่ ความต้องการใช้โดรนมีมากกว่า 80,000 ลำ รองรับพื้นที่เพาะปลูก 138 ล้านไร่ทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้ กระทรวงดีอี โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า จึงได้จัดทำโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) เพื่อขับเคลื่อนกลไกสร้างระบบนิเวศดิจิทัล ยกระดับเกษตรกรและกลุ่มชุมชนทั่วไทย ด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะร่วมสมทบค่าใช้จ่ายในการซื้อโดรนเพื่อการเกษตรให้กับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการสูงสุดถึง 60% นอกจากนี้ โครงการจะส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรสัญชาติไทยให้มีมาตรฐานผ่านการรับรองด้วยตราสัญลักษณ์ dSURE จัดตั้งศูนย์พัฒนาทักษะ การบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร ศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตร รวมถึงยกระดับทักษะเกษตรกรและชุมชนทั่วประเทศให้สามารถเป็นผู้ให้บริการบินโดรน ซึ่งจะนำไปสู่การใช้โดรนเพื่อการเกษตรในกลุ่มชุมชนและเกษตรกรไทยอย่างเป็นรูปธรรม
"โดรนเพื่อการเกษตรช่วยประหยัดค่าแรงในการฉีดพ่น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ย ยา และสารเคมี นอกจากนี้ยังช่วยยกระดับชุมชน เกษตรกร ช่างชุมชน สู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างโอกาสการเข้าถึงและพัฒนาทักษะดิจิทัล ซึ่ง กระทรวงดีอี โดย ดีป้า ประมาณการณ์ว่า ภายใน 1 ปีจะเกิดศูนย์ซ่อมโดรน จำนวน 50 ศูนย์ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ผลักดันให้ชุมชนประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตร 500 ชุมชน หรือ 10,000 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่เกษตรมากกว่า 4 ล้านไร่ พร้อมประเมินว่า โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 20,000 ล้านบาท" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว
ขณะที่ ดร.ปรีสาร รักวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานส่งเสริมการประยุกต์ใช้ดิจิทัล ดีป้า กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการโดรนเพื่อการเกษตรผ่านมาตรฐาน dSURE จำนวน 8 รุ่น 6 บริษัท นอกจากนี้
ดีป้า ยังได้ร่วมลงทุนกับ บริษัท พาวเวอร์ อโกรเทค (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อพัฒนาศูนย์พัฒนาทักษะการบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร โดยระยะแรกจะดำเนินการใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี ชลบุรี และสงขลา พร้อมให้บริการเต็มรูปแบบครบทุกสาขาภายในปี 2567 ตลอดจน ความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรพัฒนาหลักสูตรทักษะการบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร และหลักสูตรการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร
"ในส่วนของการเข้าร่วมโครงการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ร้านซ่อมแบบดั้งเดิมที่พร้อมยกระดับสู่การเป็นศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตร ซึ่งให้บริการซ่อมบำรุงโดรนและบริการฉีดพ่นสารเคมี ส่วนที่ 2 คือ ชุมชนที่ต้องการยกระดับการทำเกษตรด้วยโดรนเพื่อการเกษตร โดยทั้ง 2 ส่วนเมื่อผสานกันจะเกิดเป็นระบบนิเวศการประยุกต์ใช้โดรนอย่างยั่งยืน ชุมชนบินเป็นซ่อมได้ ซึ่งแต่ละศูนย์จะครอบคลุมการให้บริการชุมชนใกล้เคียงไม่น้อยกว่า 10 ชุมชน ซึ่งการเปิดรับสมัครรอบแรกระหว่างวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 - 15 มกราคม 2567 มีกลุ่มชุมชนที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจำนวน 250 ชุมชน และศูนย์ซ่อม 25 ศูนย์ โดยจังหวัดนครราชสีมามีกลุ่มชุมชนที่ผ่านเกณฑ์ 20 ชุมชน และศูนย์ซ่อม 2 ศูนย์" ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ดร.ปรีสาร กล่าวต่อว่า กิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จัดขึ้นครั้งนี้ถือเป็นการนำร่องการรับรู้และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรแก่ภาคประชาชนผ่านการบรรยายและเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจ นอกจากนี้ยังมีการมอบโดรนเพื่อการเกษตรแก่ 160 ชุมชน และ 16 ศูนย์ซ่อมโดรนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงการจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลจากดิจิทัลสตาร์ทอัพและผู้ให้บริการดิจิทัล (Digital Provider) สัญชาติไทย
ด้าน นายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมาในฐานะเจ้าภาพจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเป้าหมายที่จะเป็นแนวทางการสร้างรายได้เพิ่มแก่ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำและอัตราการเจ็บป่วยจากการสูดดมและสัมผัสสารเคมีทางการเกษตร พึ่งพาตนเองได้ พร้อมกันนี้ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการเกษตร สอดคล้องกับนโยบายขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาที่ต้องการส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรให้กับเครือข่ายเกษตรกร และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจังหวัดนครราชสีมา (Korat Smart City)
สำหรับกลุ่มชุมชนและช่างชุมชนทั่วประเทศที่สนใจเข้าร่วมโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ยกระดับทักษะ บินเป็น ซ่อมได้ สร้างอาชีพนักบินโดรน สามารถร่วมอบรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สมัคร ได้แล้ววันนี้ - 15 มีนาคมนี้ที่ https://www.depa.or.th/th/article-view/dronejai-BU-2 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 08 5125 1340 และ 08 2516 6224