มกอช. เผยแพร่ข้อมูลมาตรการและรายงานสถานการณ์โลกที่สำคัญ ผลักดันการส่งออก สินค้าเกษตรไทย นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ตอบรับนโยบาย ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ โดยการเผยแพร่ข้อมูลกฎระเบียบและมาตรการในการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศคู่ค้า ผ่านช่องทางออนไลน์ ได้แก่เว็บไซต์ https://spsthailand.acfs.go.th และ https://warning.acfs.go.th และสื่อออนไลน์ เฟสบุ๊ค Early Warning เตือนภัยสินค้าเกษตร https://www.facebook.com/acfsearlywarning เพื่อแจ้งเตือนการบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ ๆ และข่าวสารทางด้านความปลอดภัยอาหาร แก่ผู้ที่สนใจอย่างรวดเร็ว
เลขาธิการ มกอช. กล่าวต่ออีกว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เมื่อปี พ.ศ. 2537 หรือเกือบ 30 ปีแล้ว ไทยในฐานะประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช หรือ มาตรการ SPS (Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS) และเงื่อนไขทางเทคนิค หรือ มาตรการ TBT (Technical Barriers to Trade) ในการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร เฉพาะในส่วนของมาตรการ SPS นั้น ประเทศสมาชิก WTO ได้มีการแจ้งเวียนมาตรการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่จำนวน 2,172 ฉบับเมื่อปี 2564 ซึ่งผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องทราบสาระสำคัญของประกาศแจ้งเวียนและสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์ เพื่อเตรียมตัวและปรับตัวในการส่งออก/นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร และหลีกเลี่ยงไม่ให้การค้าต้องหยุดชะงัก รวมถึงสร้างความสามารถในการแข่งขันและการยอมรับในระดับสากล มกอช. จึงได้เฝ้าติดตามการแจ้งเวียนมาตรการของประเทศคู่ค้าเพื่อเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุดมีสรุปการแจ้งเวียนมาตรการ SPS/TBT ฉบับระหว่างวันที่ 16-31 มกราคม 2567 ซึ่งเผยแพร่ทางช่องทางประชาสัมพันธ์ข้างต้น สาระสำคัญของเรื่องที่เผยแพร่ประกอบด้วย มาตรการ SPS มาตรการ TBT และบทความที่เกี่ยวข้องกับการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร ดังต่อไปนี้ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช หรือ มาตรการ SPS (Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS) คือ มาตรการที่ใช้ในการปกป้องสุขภาพและชีวิตของมนุษย์ พืช และสัตว์ จากอันตรายที่เกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น วัตถุเจือปนในอาหาร สารปนเปื้อน สารพิษ สิ่งมีชีวิตก่อโรคในอาหาร ศัตรูพืช โรคระบาดสัตว์ เพื่อป้องกัน หรือจำกัด ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการนำสินค้าเข้าสู่ประเทศและคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ มาตรการ SPS ยังครอบคลุมถึงมาตรการที่ใช้ปกป้องสิ่งมีชีวิตในน้ำ สัตว์ป่า ป่าไม้ และพืชพรรณในธรรมชาติ
มาตรการทางเทคนิค (Technical Barriers to Trade : TBT) ในส่วนของสินค้าเกษตรและอาหาร คือ มาตรการจากกฎระเบียบทางเทคนิคในส่วนที่ไม่ใช่ SPS ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับลักษณะของสินค้า กระบวนการผลิตสินค้า รวมถึงเรื่อง ฉลาก สัญลักษณ์ เครื่องหมาย คำศัพท์ นอกจากนี้ยังครอบคลุมกระบวนการประเมินความสอดคล้อง ที่ใช้ประเมินว่ามีการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องแล้วหรือไม่ เช่น การสุ่มตัวอย่าง การทดสอบ การตรวจสอบ การประเมิน การขึ้นทะเบียน การรับรองระบบ บทความที่เกี่ยวข้องกับการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร
นอกเหนือจากสาระสำคัญของมาตรการ SPS และมาตรการ TBT มกอช. ยังมีบทบาทในการวิเคราะห์แนวโน้มกฎระเบียบระหว่างประเทศ พัฒนาการของคู่ค้าสำคัญ และการยกระดับมาตรการอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และนำเสนอสู่สาธารณะเพื่อผลักดันภารกิจด้านการมาตรฐานต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เกษตรกร ภาคธุรกิจ นักวิจัย นักศึกษา หน่วยงานราชการ และผู้สนใจทั่วไป ซึ่งจะนำไปสู่การเตรียมความพร้อมของนโยบายในระดับประเทศ และผลักดันให้เกิดแนวนโยบายใหม่ ๆ ของไทยที่เท่าทันการค้าในระดับสากล ประชาชน ผู้ประกอบการ และเกษตรกรผู้สนใจ สามารถติดตามข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น มาตรการ SPS/TBT เหตุการณ์และสถานการณ์ สินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย ได้ที่ เว็บไซต์ https://spsthailand.acfs.go.th และ ช่องทางการติดตามข้อมูลข่าวสารของโครงการ Early Warning ได้ที่เว็บไซต์ https://warning.acfs.go.th และ เฟสบุ๊ค Early warning เตือนภัยสินค้าเกษตร (https://www.facebook.com/acfsearlywarning) หรือติดต่อได้ที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เบอร์โทร 02-561-2277 หรือผ่านทาง e-mail: itc@acfs.go.th ตามวันและเวลาทำการ:วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.