"บมจ.โรงพยาบาล ลาดพร้าว หรือ LPH" เปิดแผนธุรกิจปีมังกรทอง ตั้งธงรายได้รวมโต 20-25% หลังคนไข้ทั่วไปกลับมาเข้ารับการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ทั้งผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD) รวมทั้งผู้ป่วยต่างชาติจากตะวันออกกลาง-กัมพูชา คาดรายได้ผู้ป่วยต่างชาติปีนี้พุ่ง 50% จากปีที่ผ่านมา ล่าสุดแตกไลน์ธุรกิจผุดคอนโดฯ พรีเมี่ยม ย่านลาดพร้าว เพื่อการกระจายความเสี่ยงและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต ด้านความคืบหน้าแผนการลงทุนสร้างโรงพยาบาลเฉพาะทางแห่งใหม่ที่ถนนลาดพร้าว รพ.จักษุอินเตอร์ฯ ลาดพร้าว และรพ.ศัลยกรรมเฉพาะทางรวมผ่าตัดหัวใจครบวงจร คาดแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการปลายปี 68 เผยผลประกอบการปี 66 รายได้รวมอยู่ที่ 2,261 ลบ. กำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นใหญ่ 63.55 ลบ. เหตุสิ้นสุดการระบาดโควิด-19 และเพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้น แจกปันผลในอัตราหุ้นละ 0.09 บาท ขึ้น XD วันที่ 2 พ.ค. 67 กำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 17 พ.ค. 67 สะท้อนความเชื่อมั่นการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาล ลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) หรือ LPH เปิดเผยว่า แผนธุรกิจในปี 2567 LPH ตั้งเป้าหมายรายได้รวมเติบโต 20-25% เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยภาพรวมปัจจุบันคนไข้ทั่วไปกลับมาเข้ารับการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ทั้งคนไข้ภายนอก (OPD) และคนไข้ใน (IPD) โดยสัดส่วนรายได้มาจากกลุ่มผู้ป่วยจากประกันสังคม (สปส.) ราว 45% และกลุ่มผู้ป่วยเงินสดราว 55% ขณะที่ผู้ป่วยต่างชาติทยอยกลับมาใช้บริการมากขึ้นเช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่จะเป็นคนไข้จากตะวันออกกลาง รวมถึงคนไข้ประเทศกัมพูชา ซึ่งสนใจเข้ารับการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น โดยประเมินรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติในปี 2567 คาดว่ารายได้จะเติบโตราว 50% จากปีที่ผ่านมา
"จำนวนผู้ป่วยต่างชาติเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยให้สัดส่วนผู้ป่วยเงินสดเพิ่มสูงขึ้นด้วย ปัจจุบันโรงพยาบาลมีสัดส่วนคนไข้ต่างประเทศรวมทั้งหมดไม่ถึง 5% โดยตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปี (2566-2568) จำนวนผู้ป่วยจากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นมาเป็นสัดส่วนที่ 10%" ดร.อังกูร กล่าว
นอกจากนี้ ฐานผู้ป่วยประกันตนในปี 2567 ล่าสุดอยู่ที่ 180,000 ราย จากโควต้า 200,000 กว่าราย แต่ในช่วงเดือนมีนาคมนี้ จะเป็นช่วงขอเปลี่ยนสถานพยาบาลของประกันสังคมรอบใหม่ คาดว่าจะได้ผู้ป่วยประกันสังคมเพิ่มแต่ไม่น่าจะเกิน 200,000 ราย เนื่องจากธุรกิจย่านลาดพร้าวมีการขยายตัวไม่มาก โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมา LPH ได้เปิดศูนย์การแพทย์ประกันสังคมลาดพร้าวแห่งใหม่ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลเดิมด้วย เพื่อรองรับฐานผู้ป่วยที่ใหญ่ขึ้น สามารถรับผู้ป่วยนอกประกันสังคม วันละ 1,000 คน และเป็นศูนย์ตรวจสุขภาพประกันสังคมด้วย
สำหรับความคืบหน้าแผนการลงทุนสร้างโรงพยาบาลเฉพาะทางแห่งใหม่ที่ถนนลาดพร้าว รพ.จักษุอินเตอร์ฯ ลาดพร้าว และรพ.ศัลยกรรมเฉพาะทางรวมผ่าตัดหัวใจครบวงจร มูลค่าการลงทุนรวม 1,300 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างตึก 500 ล้านบาท และค่าอุปกรณ์การแพทย์ 800 ล้านบาท การก่อสร้างล่าช้าออกไปจากเดิม
เนื่องจากมีการปรับแบบอาคารใหม่เพิ่มในเรื่องของอาคารสีเขียว (Green Building) เป็นเทรนด์รักษ์โลกในขณะนี้ คาดว่าภายในไตรมาส 2/2567 จะเริ่มการก่อสร้างได้ และปลายปี 2568 คาดจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ ซึ่งจะรองรับคนไข้พรีเมี่ยมและคนไข้ต่างชาติ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับ LPH
การขยายตัวในระยะยาวของ LPH เราเน้นการเติบโตที่ยั่งยืน ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลเราคงไม่ได้โตหวือหวา ล่าสุดได้ตั้งบริษัทลูกเป็นการแตกไลน์ (Diversify) ธุรกิจ และมีการลงทุนโครงการใหม่ๆเพิ่มขึ้น รวมถึงการหาพันธมิตร เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต ล่าสุดเตรียมลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ โดยในปี 2567 นี้ เตรียมก่อสร้างคอนโดมิเนียม เกรดพรีเมี่ยม ย่านลาดพร้าว มูลค่าโครงการ 120 ล้านบาท จำนวน 70 ห้อง ปัจจุบันมีการสำรวจความต้องการจองอยู่ในอัตราที่สูงมากเนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าและเป็นแหล่งชุมชนใหม่
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนขยายการลงทุน โรงพยาบาลตรวจสุขภาพเพิ่มขึ้น จากเดิมเปิด รพ.ตรวจสุขภาพ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะเพิ่มอีก 1 แห่ง ที่โคราช เพื่อขยายฐานลูกค้าโรงงานขนาดกลางและเล็กที่มีจำนวนพนักงานไม่เกิน 500 คน คาดรายได้ในส่วนตรวจสุขภาพนอกสถานที่จะเติบโตกว่า 50%
สำหรับผลประกอบการของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในงวดปี 2566 (สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2566) มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,261.64 ล้านบาท ลดลง 7.20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่มีรายได้รวม 2,437.03 ล้านบาท เนื่องจากสิ้นสุดการระบาดของโควิด-19 โดยมีรายได้จากการรักษาพยาบาลตามปกติธุรกิจ 1,944.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 6.34% มีรายได้จากการบริการ 288.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.51% แต่รายได้จากการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยลดลง 100% จากการสิ้นสุดภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นใหญ่ อยู่ที่ 63.55 ล้านบาท ลดลง 80.32% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้น และสะท้อนความเชื่อมั่นการเติบโตของธุรกิจในอนาคต ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในอัตราหุ้นละ 0.15 บาท เป็นจำนวนเงินรวม 108 ล้านบาท โดยจ่ายจากผลประกอบการกำไรสุทธิประจำปี 2566 ในอัตราร้อยละ 64.94 ในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท เป็นจำนวนเงินรวม 72 ล้านบาท และจ่ายกำไรสะสมยังไม่จัดสรรในอัตราหุ้นละ 0.05 บาท เป็นจำนวนเงินรวม 36 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้ว 2 ครั้ง ในอัตราหุ้นละ 0.03 บาท เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 และจ่ายปันผลระหว่างกาลครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.03 บาท ดังนั้นคงเหลือการจ่ายเงินปันผลอีกในอัตราหุ้นละ 0.09 บาท วันกำหนดสิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อสิทธิในการรับเงินปันผล วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 และวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 วันที่จ่ายปันผล 17 พฤษภาคม 2567