TCELS หนุน SME ไทยส่งออก 45 ประเทศสมาชิก OECD ชูจุดเด่นเข้าถึงแล็บง่าย ได้เงินคืนผ่านระบบ BDS

ข่าวทั่วไป Monday November 27, 2023 17:08 —ThaiPR.net

TCELS หนุน SME ไทยส่งออก 45 ประเทศสมาชิก OECD ชูจุดเด่นเข้าถึงแล็บง่าย ได้เงินคืนผ่านระบบ BDS

TCELS ผนึกกำลัง สสว.หนุนศักยภาพ SME ไทยสู่ระดับสากล ด้วยระบบ BDS รับบทพี่เลี้ยงแบบ One Stop Service ตรวจทดสอบผลิตภัณฑ์ยา อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ เคมีเกษตรและเคมีอุตสาหกรรม ผ่านห้องแล็บเครือข่าย TOPT ภายใต้มาตรฐานการรับรองของ OECD ส่งออก 45 ประเทศโดยไม่ต้องทดสอบซ้ำ ลดขั้นตอนยุ่งยากได้ถึง 2 ปี  พร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 - 80 ช่วยลดข้อกีดกันทางการค้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ เสริมแกร่งเศรษฐกิจไทยเติบโตด้วยนวัตกรรมอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS: Thailand Center of Excellence for Life Sciences) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนทั่วโลก ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กอยู่ในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมาก มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังมี SME จำนวนไม่น้อยที่ยังมีอุปสรรคด้านการส่งออก เนื่องจากการตรวจสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ต้องอาศัยขั้นตอนและระยะเวลา รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายสูง

TCELS จึงร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ผ่านระบบ Business Development Services หรือ BDS ภายใต้แนวคิด "SME ปัง ได้ตังคืน" เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการพัฒนาและก้าวเข้าสู่ระดับสากล โดยสามารถเข้ารับบริการตรวจทดสอบผ่านห้องปฏิบัติการในเครือข่ายพันธมิตรการทดสอบความปลอดภัยและทดสอบประสิทธิภาพประสิทธิผลผลิตภัณฑ์ระดับก่อนคลินิก หรือ Thailand OECD GLP/Non-GLP Preclinical Testing Network (TOPT) ซึ่งมีเครือข่ายห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ ในการผลักดันงานทดสอบความปลอดภัย วิจัย ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลิตภัณฑ์ระดับก่อนคลินิกสู่การดำเนินการเชิงพาณิชย์ ที่รองรับบริการทดสอบในระดับนานาชาติ ในการส่งเสริม SME กลุ่มอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ให้เข้าถึงบริการการทดสอบของเครือข่าย รวมทั้งยังสามารถขอรับเงินคืนจากสิทธิประโยชน์นี้ด้วย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SME ที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับเงินสนับสนุนในการใช้บริการห้องปฏิบัติการในเครือข่ายของ TCELS ประกอบด้วย ผู้ประกอบการรายย่อย (Micro SME) รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี สสว. จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายร้อยละ 80% ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท ผู้ประกอบการรายเล็ก (Small SME) ภาคการผลิตรายได้ไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อปี และภาคอื่น ๆ รายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี จะได้รับการสนับสนุนร้อยละ 80 วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลาง ภาคการผลิตรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท และภาคอื่น ๆ รายได้ไม่เกิน 200 ล้านบาท จะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 วงเงินไม่เกิน 200,000 บาท โดยผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้จำนวน 2 ครั้งต่อราย วงเงินสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย ผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถลงทะเบียนเข้ารับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ bds.sme.go.th

ดร.จิตติ์พร กล่าวต่อว่า "ผู้ประกอบการ SME สามารถเลือกรับการบริการหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในด้านที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจของตน พร้อมกับได้รับการสนับสนุนจาก TCELS ในการดูแลและช่วยเหลือในฐานะทีมพี่เลี้ยง ตั้งแต่การลงทะเบียน พร้อมรับเงินสนับสนุนจาก สสว. ผ่านระบบ BDS ในสัดส่วนร้อยละ 50-80% ของค่าใช้จ่ายบริการตามขนาดของธุรกิจ พร้อมได้รับรายงานผลทางวิทยาศาสตร์สำหรับประกอบการขึ้นทะเบียนสินค้าในระดับสากล ผ่านเครือข่ายพันธมิตรการทดสอบความปลอดภัยและทดสอบประสิทธิภาพประสิทธิผลผลิตภัณฑ์ระดับก่อนคลินิก หรือ Thailand OECD GLP/Non-GLP Preclinical Testing Network (TOPT) ซึ่งมีเครือข่ายห้องปฏิบัติการทดสอบทั่วประเทศที่ผ่านการรับรองขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) ครอบคลุมทั้ง ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลียและเอเชีย กลุ่มประเทศ OECD และประเทศสมาชิกสมทบ 45 ประเทศทั่วโลก โดยไม่ต้องตรวจซ้ำในประเทศคู่ค้า ช่วยลดขั้นตอนในการดำเนินการได้ถึง 2 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับการการดำเนินงานโดยตรงกับประเทศคู่ค้าในกลุ่มประเทศสมาชิก"

ปัจจุบัน TCELS มีเครือข่ายห้องปฏิบัติการ TOPT ภายใต้มาตรฐานการยอมรับของ OECD ทั่วประเทศ ประกอบด้วย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและห้องปฏิบัติการอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีห้องปฏิบัติการที่อยู่ในขั้นตอนขอการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตามหลักการ OECD อีก 2 แห่ง คือ ศูนย์วิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  และศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ  วว.

โดยเปิดให้บริการทดสอบทั้งหมด 5 หมวด ได้แก่ 1. การทดสอบวิเคราะห์คุณภาพและสารสำคัญยา สารสกัดสมุนไพร และเคมีใหม่ 2. การทดสอบในเซลล์ 3. การทดสอบในสัตว์ทดลอง (ปลา หนู ไพรเมท) 4. การทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และ 5. การทดสอบ Biocompatibility ของกลุ่มเครื่องมือแพทย์ ประเภทผลิตภัณฑ์ที่สามารถรับบริการ TOPT ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ยา วัคซีน เครื่องสำอาง อาหาร อาหารใหม่ สารเคมีในอุตสาหกรรม วัตถุเจือปนอาหาร วัตถุเติมในอาหารสัตว์ เคมีเกษตร ยาฆ่าแมลง และเครื่องมือแพทย์

TCELS มุ่งขับเคลื่อนเป้าหมาย "ธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์เติบโตเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ" เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนและสิ่งแวดล้อม "TCELS MAKE EVERY LIFE BETTER"  ศึกษารายละเอียดและบริการของ TCELS ได้ที่ www.tcels.or.th  Facebook: TCELS THAILAND


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ