ไทยพีบีเอส และ The Active จับมือหลากหลายองค์กรจากภาครัฐ และเอกชน เปิดพื้นที่สร้างความเข้าใจ "ระบบสุขภาวะทางจิต" ร่วมกันพัฒนากลไก ค้นหานวัตกรรมขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความร่วมมือในการส่งเสริมป้องกันสุขภาพใจได้มากขึ้น
เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส และ The Active ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน โดยมี รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. , นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต, ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. , ดร.กุลิสรา บุตรพุฒ นักกลยุทธ์นวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), และวิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ นักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคตอาวุโส Future Tales Lab by MQDC ร่วมกันจัด Public Forum เปิดภาพอนาคตสุขภาพจิตคนไทย 2576 เพื่อฉาย 5 ฉากทัศน์จากงานวิจัยอนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย สร้างความเข้าใจ และร่วมกันค้นหานวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อน "สุขภาวะทางจิต"
โดย 5 ฉากทัศน์จากงานวิจัยอนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย เป็นการคาดการณ์ถึงอนาคตของสังคมไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ที่เลวร้ายที่สุด ได้แก่
ทั้งนี้ ทั้ง 5 ฉากทัศน์ มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับสังคมไทยได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับปัจจัยในการขับเคลื่อนต่าง ๆ ว่าจะเป็นไปในทางบวก หรือลบ ซึ่งสามารถควบคุมปัจจัยขับเคลื่อนเหล่านี้ได้ โดยเป้าหมายในการร่วมกันขับเคลื่อน "สุขภาวะทางจิต" นี้ เพื่อที่จะร่วมกันค้นหานวัตกรรม ขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความร่วมมือในการส่งเสริมป้องกันสุขภาพใจได้มากขึ้น เพื่อกำหนดอนาคตสุขภาพจิตคนไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ว่าจะเป็น "ระเบิดเวลาของความหวาดกลัว" "จุดหมายแห่งความสุข" หรือฉากทัศน์อื่น ๆ
รศ.วิลาสินี ผอ. ส.ส.ท. กล่าวถึงบทบาทของสื่อกับการส่งเสริมด้านสุขภาพจิต ควรเปิดพื้นที่สร้างความเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกคนจริง ๆ และสุขภาวะทางจิตเป็นปัจจัยในการกำหนดความสุขของผู้คน แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่ทับซ้อนหลายมิติ เช่น ศักยภาพของคน ๆ หนึ่ง จะปรับตัวให้มีความสุขได้ขึ้นอยู่กับสภาพครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน เศรษฐกิจและสังคม และท้ายที่สุดคือระดับนโยบาย สิ่งที่ไทยพีบีเอส พยายามสื่อสารข้อความถึงประชาชน จึงไม่ใช่แค่เรื่องการเป็นโรค แต่ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบเหล่านี้ด้วย
"Policy watch เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ไทยพีบีเอสให้ความรู้ ทำความเข้าใจว่าสุขภาพจิตคืออะไร เกี่ยวข้องกับใคร เพื่อให้คนทะลุออกจากกรอบเดิม ๆ โดยเฉพาะการตีตรา สิ่งที่เราจะทำงานร่วมกับภาคีฯ คือทำให้เห็นว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่องของทุกคน ผ่านกิจกรรม 'HACK ใจ' ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้กระบวนการ ผลลัพธ์ ที่เกิดขึ้นส่งไปถึงรัฐบาล" รศ.วิลาสินี กล่าว
สำหรับ โครงการ 'HACK ใจ เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน' เป็น Hackathon ด้านสุขภาพจิตครั้งแรกในประเทศไทย มีเป้าหมายของการจัดกิจกรรม เพื่อรวบรวมไอเดียด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิตอย่างยั่งยืน เป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และทักษะของแต่ละองค์กร นำไปปรับใช้ให้เกิดผลลัพธ์ด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิต รวมถึงสร้างเครือข่ายการพัฒนาโครงการ เจตจำนง หรือนโยบายด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิต ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 ก.พ. - 2 มี.ค. 67 ที่ไทยพีบีเอส ในรูปแบบของกิจกรรม Hackathon ระดมสมองหาไอเดียต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 วัน ก่อนนำเสนอผลงาน ประกอบด้วย 8 กลุ่ม ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องด้านการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิตแตกต่างกันไป ประกอบด้วย นวัตกรรม, เศรษฐกิจดิจิทัล, ระบบยุติธรรม, ผู้บังคับใช้กฎหมาย, การสื่อสาร, การออกแบบเมือง, ธุรกิจประกัน และ องค์กรแห่งความสุข โดยสามารถติดตามรับชมกิจกรรมนี้ได้ ผ่าน Facebook และ YouTube : The Active