โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อกรุยทางให้กับอุตสาหกรรมสู่การยุติกรงขังแม่ไก่ในทวีปเอเชีย
Open Wing Alliance (OWA) สหพันธ์ระดับโลกที่ประกอบด้วย 100 องค์กรจาก 72 ประเทศทั่วโลกในหกทวีป ได้ประกาศเปิดตัวเกณฑ์มาตรฐานไข่ไก่ไร้กรงในทวีปเอเชีย (Asia Cage-Free Benchmark) ฉบับแรก รายงานฉบับนี้ประเมินวิธีที่รัฐบาลไทย และประเทศอื่นๆ ในเอเชียใช้ในการสนับสนุนการเปลี่ยนจากระบบกรงขังไปสู่การเลี้ยงแบบไร้กรง
มีการประเมิน 17 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออก ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันตก และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (SEAANZ) โดยใช้ 3 เกณฑ์หลัก คือ การยุติกรงขัง กรอบนโยบาย และมาตรฐานสวัสดิภาพ โดยมีคะแนนเต็ม 140 คะแนน ซึ่งประเทศไทยได้รับอันดับที่ 10 จากทั้งหมด 17 ประเทศ ด้วยคะแนนรวม 14 คะแนน รองจากประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอินเดีย ที่ครองอันดับที่ 7 ร่วมกันในการประเมินครั้งนี้
ประเทศไทยได้คะแนนการประเมินต่ำ เนื่องจากยังไม่มีข้อกฎหมายห้ามใช้กรงขังหรือนโยบายในการยุติระบบกรงขังในอนาคต นอกจากนี้ ประเทศไทยยังขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้มาตรการให้เป็นไปตามระเบียบด้านสวัสดิภาพของสัตว์ที่มีอยู่อีกด้วย ทำให้ได้คะแนนเพียง 2 จากคะแนนเต็ม 32 ซึ่งกรงขังดั้งเดิมแบบนี้กักขังแม่ไก่ไข่ไว้ในบริเวณที่คับแคบ เป็นอุปสรรคต่อการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติของพวกเขา และก่อให้เกิดความทุกข์อันเกินควร
"ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่รัฐบาลจะต้องสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบไร้กรงขังในประเทศไทยโดยให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่เกษตรกรที่ต้องการเปลี่ยนระบบ และพิจารณาการห้ามใช้กรง ทั้งผู้บริโภคและบริษัทจะได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนจากรัฐบาลในการยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพของสัตว์" วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย จากซิเนอร์เจีย แอนนิมอลกล่าว
ผลสำรวจในประเทศไทยพบว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์
ประชาชนส่วนใหญ่จากผลสำรวจในปี 2022 ตอบว่าสวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์มเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา และร้อยละ 90.5 เห็นความสำคัญของการใช้กฎหมายเพื่อปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ นอกจากนี้ บริษัทชั้นนำจากทั่วโลก เช่น Nestle, Unilever, Burger King, KFC และ Marriott รวมถึงบริษัทในไทย เช่น Minor International และ Sukishi Intergroup ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเลิกใช้ไข่ไก่จากระบบกรงขังเพื่อสนับสนุนไข่ไก่ไร้กรง
เหตุผลที่ประเทศไทยต้องออกห่างจากระบบกรงขัง
"ประมาณร้อยละ 63 ของประชากรไก่ไข่เชิงพาณิชย์ในโลก หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่า 3 พันล้านชีวิตอยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งแม่ไก่จำนวนมากถึง 94.8 ล้านชีวิตในประเทศไทยถูกขังอยู่ในกรง" วิชญะภัทร์กล่าว
แม่ไก่ไม่สามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้หลายอย่างในระบบกรงขัง เช่น การสยายปีกอย่างเต็มที่ การจิกหาอาหารบนพื้น และการสร้างรัง เนื่องจากการกักขังในพื้นที่จำกัดอย่างมาก แม่ไก่ต้องเผชิญกับความหงุดหงิดและยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักสูงกว่า ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดความตึงเครียด พื้นที่อันจำกัดทำให้แม่ไก่แสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติไม่ได้ และอาจต้องใช้ชีวิตในสภาพเครียดเป็นระยะยาว สหภาพยุโรปและอีกหลายประเทศห้ามการใช้กรงขังแล้ว เนื่องจากมีข้อกังวลเรื่องสวัสดิภาพสัตว์