อันตรายจากการบาดเจ็บและการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ ภัยใกล้ตัวที่เป็นภาวะคุกคามของชีวิต

ข่าวทั่วไป Tuesday February 27, 2024 12:44 —ThaiPR.net

อันตรายจากการบาดเจ็บและการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ ภัยใกล้ตัวที่เป็นภาวะคุกคามของชีวิต

 "ศีรษะ" เป็นอวัยวะที่สำคัญสำหรับร่างกายของเรา ด้านในมีสมองที่ทำหน้าที่สั่งการและควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ดังนั้น การเกิดอันตรายใดๆ ที่ทำให้ศีรษะได้รับความกระทบกระเทือนในตำแหน่งใดก็ตาม จะส่งผลกระทบต่อสมองได้ ถือเป็นหนึ่งในภาวะคุกคามของชีวิต บางคนอาจจะมองว่าโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ เป็นเรื่องไกลตัวมาก แต่ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะจำนวนของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทางศีรษะส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์และการพลัดตกหกล้ม

อาจารย์ ดร.ภรณ์ทิพย์ สุญาสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลศัลยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึง "การบาดเจ็บที่ศีรษะ" หมายถึง อาการบาดเจ็บใดๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณศีรษะ ได้แก่ หนังศีรษะ กะโหลกศีรษะ หรือสมอง ถ้าถูกกระแทกไม่รุนแรง ศีรษะอาจจะแค่บวมช้ำ ถ้าแรงที่มากระแทกกับศีรษะมีความรุนแรงมาก ก็สามารถทำให้เกิดแผลฉีกขาดของหนังศรีษะ กะโหลกศีรษะแตก หรือสมองช้ำได้ สาเหตุหลักของการบาดเจ็บที่ศีรษะมีความแตกต่างตามในแต่ละช่วงอายุ กล่าวคือ วัยเด็กแรกเกิดถึง 14 ปี ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ รวมถึงการไม่ใช้คาร์ซีท ทำให้เวลาเกิดอุบัติเหตุศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง สำหรับวัย 15 ปีถึงวัยผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เช่นเดียวกัน เพราะมีพฤติกรรมความเสี่ยงจากการไม่เคารพกฎจราจร เช่น การขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย หรือไม่สวมหมวกกันน็อค เป็นต้น สำหรับในวัยผู้สูงอายุส่วนใหญ่เกิดจากการพลัดตกหกล้ม ทั้งนี้ ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บศีรษะได้ เช่น โดนทำร้ายร่างกาย หรือเล่นกีฬาที่มีแรงกระแทกรุนแรง เช่น ฟุตบอล และวอลเลย์บอล เป็นต้น

การบาดเจ็บที่ศีรษะจะแบ่งระดับความรุนแรงได้ 3 ระดับ ได้แก่ บาดเจ็บศีรษะเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยอาจมีรอยฟกช้ำหรือแผลฉีกขาดเล็กน้อยที่หนังศีรษะ ปวดหัว พูดจาสับสนบ้าง หรือคลื่นไส้อาเจียน ถัดมาคือ บาดเจ็บศีรษะปานกลางถึงรุนแรง ผู้ป่วยอาจมีอาการหมดสติ ปวดหัวรุนแรง กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง หรือชักเกร็ง ซึ่งเป็นอาการที่บ่งบอกว่าสมองได้รับการบาดเจ็บอย่างรุนแรงนำไปสู่การเสียชีวิต ดังนั้น เมื่อบาดเจ็บที่ศีรษะ การสังเกตอาการและการปฏิบัติตัวหลังได้รับบาดเจ็บจึงมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเพียงเล็กน้อย แต่หากยังรู้สึกตัวดีและไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับการรู้สึกตัว ไม่ลืมเหตุการณ์ พูดคุยได้ปกติ สามารถให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่ผู้บาดเจ็บได้ตามอาการ เช่น การประคบเย็นบริเวณที่บาดเจ็บเพื่อบรรเทาปวดและสังเกตอาการต่อเนื่อง 1-2 วัน หากมีการบาดเจ็บปานกลางถึงรุนเรง ผู้ป่วยอาจมีการเปลี่ยนแปลงระดับของอาการรู้สึกตัว เริ่มพูดจาสับสนหรือไม่พูด ปลุกไม่ตื่น หรือมีอาการทางระบบประสาทอื่นๆ เช่น ตาพร่ามัว แขนขาอ่อนแรง ชักเกร็ง หรืออาเจียนโดยไม่มีอาการคลื่นไส้ หรืออาจมีน้ำใสๆ หรือเลือดออกทางจมูก หากมีอาการใดอาการหนึ่ง ให้รีบมาพบแพทย์ เพราะบ่งบอกถึงอันตรายที่เกิดขึ้นกับสมองซึงเป็นภาวะคุกคามชีวิต มีความเสี่ยงถึงแก่ชีวิต

วิธีปฏิบัติตนและการดูแลสำหรับผู้ป่วย หากผู้ป่วยที่ไม่ได้มีอาการบาดเจ็บรุนแรง และแพทย์มีความเห็นว่าสามารถกลับมาสังเกตอาการที่บ้านได้ ญาติและผู้ดูแลต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดใน 2 วันแรก เพราะยังมีความเป็นไปได้ที่อาการจะแสดงออกหลังจากที่กลับมาบ้านแล้ว จึงต้องสังเกตระดับความรู้สึกตัวและอาการทางระบบประสาทของผู้ป่วยว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามแพทย์สั่ง และมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง แม้ว่าจะไม่มีอาการแล้ว ผู้ป่วยควรทานอาหารอ่อนและย่อยง่าย เพื่อไม่ให้เกิดอาการท้องผูก เพราะการเบ่งถ่ายทำให้เกิดแรงดันในช่องท้องที่จะส่งผลถึงแรงดันในสมอง ทำให้อาการแย่ลงได้ นอกจากนี้ ใน 24 ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยต้องงดดื่มแอลกอฮอลล์และยาที่ทำให้มีอาการง่วงซึม เนื่องจากฤทธิ์ของยาและแอลกอฮอล์ จะไปบดบังอาการทางสมอง ทำให้แพทย์ประเมินอาการทางระบบประสาทได้ยาก รวมถึงผู้ป่วยไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ เพราะมีความเป็นไปได้ว่า อาการทางประสาทจะแย่ลง ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้ งดการออกกำลังกายที่ทำให้เกิดแรงกระแทก เช่น ฟุตบอล วอลเลย์บอล หรือกิจกรรมที่มีการกระแทกศีรษะ อย่างน้อย 3 สัปดาห์ และประการสุดท้ายคือ ผู้ป่วยจึงไม่ควรสั่งน้ำมูก หรือไอจามรุนแรง เพราะจะทำให้อาการทางสมองแย่ลงได้

อาจารย์ ดร.ภรณ์ทิพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะในเด็กและผู้ใหญ่ จึงอยากรณรงค์ให้คนไทยทุกคน สร้างวัฒนธรรมการขับขี่ที่ปลอดภัย และเคารพกฎจราจร รณรงค์ให้ใช้คาร์ซีทสำหรับเด็ก เป็นเรื่องที่ปฏิบัติตามได้ง่ายแต่สำคัญ เพราะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตได้ และในกลุ่มผุ้สูงอายุ ก็ต้องได้รับการป้องกันการพลัดตกหกล้มที่เหมาะสม เพราะผู้สูงอายุทุกคนมีร่างกายที่เปราะบาง จึงเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บรุนแรงได้มากกว่าวัยอื่น สมาชิกในครอบครัวสามารถจัดสิ่งแวดล้อมตามมุมต่าง ๆ ในบ้านให้ปลอดภัย เช่น วางข้าวของให้เป็นระเบียบป้องกันการสะดุดล้ม เพิ่มราวจับบันไดเพื่อช่วยในการทรงตัวขณะขึ้นลง หรือการปูพื้นกันลื่นและติดตั้งราวจับในห้องน้ำ ก็จะช่วยป้องกันได้อุบัติเหตุได้

ดังนั้น การป้องกันอันตรายที่จะทำให้ศีรษะได้รับบาดเจ็บจากสาเหตุต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะแล้ว มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต มีความเสี่ยงต่อทุพพลภาพ และยังส่งผลต่อครอบครัว เศรษฐกิจและสังคม


แท็ก สมอง  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ