บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) หรือ SYNEX ดิสทริบิวเตอร์ผู้นำด้านไอทีอีโคซิสเต็ม เดินหน้าสร้างการเติบโตด้วยสินค้าและบริการครบวงจร ชูการบริหารจัดการ Product Mix ปรับสัดส่วนพอร์ตสินค้าที่หลากหลายตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ด้านผลงานปี 66 มีรายได้จากการขายและให้บริการอยู่ที่เกือบ 36,554 ล้านบาท กำไร 513 ล้านบาท ซึ่งเติบโตในกลุ่มสินค้าคอมเมอร์เชียล มือถือ และเกมมิ่ง ขณะที่กลุ่มคอนซูเมอร์ได้รับผลกระทบจากปัจจัยสภาวะตลาด แต่เชื่อมั่นว่าปีนี้จะกลับมาดีขึ้น ด้านบอร์ดไฟเขียว อนุมัติการจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.26 บาท กำหนดจ่ายวันที่ 8 พ.ค.นี้ หนุนทั้งปี 66 จ่ายเงินปันผลรวมในอัตราหุ้นละ 0.36 บาท ตอบแทนผู้ถือหุ้นที่เชื่อมั่น
นางสาวสุธิดา มงคลสุธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SYNEX เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2566 ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี บริษัทเน้นบริหารจัดการกลุ่มสินค้าให้มีประสิทธิภาพ โดยโฟกัสสินค้ากลุ่มคอมเมอร์เชียลที่เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งมีสัดส่วนรายได้เป็น 22% จาก 20% ในปี 2565 และกลุ่มอุปกรณ์และเครื่องมือสื่อสารที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 40% จากปีก่อนอยู่ที่ 36% ขณะที่ สินค้ากลุ่มคอนซูเมอร์คาดสัดส่วนรายได้จะปรับลดลงอยู่ที่ 37% จากเดิม 42% เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงกลุ่มสินค้าคอนซูเมอร์ที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง
สำหรับภาพรวมปี 2566 ซินเน็คฯ รายงานผลการดำเนินงาน มีรายได้จากการขายและให้บริการ 36,553.57 ล้านบาท ลดลง 6.47% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยสามารถรักษาการเติบโตที่ดีของสินค้าในกลุ่มอุปกรณ์และเครื่องมือสื่อสารที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากยอดขายสินค้าแบรนด์ Apple และการเติบโตอย่างมากของสมาร์ทโฟนแบรนด์ HONOR ที่บริษัทฯ เป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว ที่มียอดขายมากกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับสินค้ากลุ่มคอมเมอร์เชียล ยังเติบโตจากกลุ่มสินค้าเน็ตเวิร์ค ทั้ง CISCO และ HUAWEI รวมถึงอุปกรณ์ IoT ในกลุ่มกล้องวงจรปิดทั้งในแบรนด์ HIKVISION และ DAHUA อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้รับปัจจัยกระทบจากสภาวะโดยรวมของตลาดที่ส่งผลถึงกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะสินค้าคอนซูเมอร์ ประเภทคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และผลิตภัณฑ์ประเภทอุปกรณ์ชิ้นส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เป็นผลให้รายได้สินค้ากลุ่มนี้ลดลง 16.29% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ด้านกำไรขั้นต้น อยู่ที่ 1,470.20 ล้านบาท มีอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ 4.02% ลดลงจากปีก่อน 4.60% ซึ่งสาเหตุหลักมาจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงในเกือบทุกกลุ่มสินค้า ทำให้ผู้จัดจำหน่ายมีข้อจำกัดในการกำหนดราคาขายของสินค้า อย่างไรก็ดีบริษัท ได้ปรับแผนกลยุทธ์ในการมุ่งเน้นและเพิ่มกลุ่มสินค้าที่มีอัตราการทำกำไรที่สูงขึ้น เช่น สินค้ากลุ่มเกมมิ่ง เป็นต้น เพื่อให้สามารถดำรงอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและแข่งขันได้
สำหรับกำไรสุทธิ อยู่ที่ 513.3 ล้านบาท ลดลง 302.77 ล้านบาท หรือ 37.10% เมื่อเทียบกับปีก่อน สาเหตุจาก ยอดขายและกำไรที่ลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย เนื่องจากการขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นตามไปด้วย รวมถึงกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลงจากความผันผวนอย่างมากของค่าเงินบาท ซึ่งบริษัทฯ ยังคงประเมินความเสี่ยงและติดตามสถานการณ์ดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด และใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆในการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดผลกระทบจากดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ดี ทิศทางภาพรวมกลุ่มสมาร์ทโฟนยังคงเติบโตเป็นไฮไลท์ที่น่าจับตามอง หลังจากในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 แบรนด์ชั้นนำต่างๆ มีการเปิดตัวสินค้ารุ่นเรือธงที่นำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆ และเทรนด์ AI Phone ที่เขย่าตลาดสมาร์ทโฟนได้อย่างน่าสนใจ และกลุ่มสินค้าคอมเมอร์เชียล (Commercial) ที่มองว่า จะยังรักษาการเติบโตที่ดี ส่วนสินค้ากลุ่มคอนซูเมอร์ (Consumer) แม้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในปี 2566 กำลังซื้อลดลง แต่มองว่า ยังคงเป็นสินค้าจำเป็นและมีความต้องการเข้ามาตามยุคสมัยและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จึงมองว่า ในปี 2567 สินค้ากลุ่มนี้มีโอกาสที่จะกลับมาฟื้นตัว โดยโค้งแรกของปีได้รับอานิสงส์จากโครงการกระตุ้นของภาครัฐต่างๆ อาทิ โครงการลดหย่อนภาษี (Easy E-receipt) ในไตรมาส 1/2567 และโครงการอื่นๆในอนาคตที่คาดว่าจะเข้ามาช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภคให้เติบโตได้
และด้วยรากฐานธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งของซินเน็คฯ และความเชื่อมั่นภายใต้ตราสัญลักษณ์ "Trusted By Synnex" ที่รับประกันสินค้าไอทีกว่า 70 แบรนด์ชั้นนำระดับโลก ครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้วยศูนย์บริการทั่วประเทศที่ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า เมื่อซื้อสินค้าของซินเน็คฯ จะอุ่นใจได้ตลอดการใช้งานอย่างแน่นอน
"ในปี 2567 นี้ ซินเน็คฯ มองว่าเป็นอีกปีที่ท้าทายในการบริหารงานในช่วงการฟื้นตัวของเศษฐกิจและภาพรวมของอัตรากำไรขั้นต้นของสินค้าไอที แต่เราก็คาดว่าน่าจะเห็นทิศทางที่ดีขึ้น จากการปรับกลยุทธ์การบริหาร Product Mix เพื่อปิดความเสี่ยง อีกทั้งการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไอทีของผู้บริโภคตามอายุการใช้งานตั้งแต่ช่วงของโควิด-19 และอัพเดตสินค้าตามเทรนด์ต่างๆ ซึ่งเราพร้อมเดินหน้าอย่างเต็มที่เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าของเรา และนำมาซึ่งการเติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้" นางสาวสุธิดา กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ อนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.36 บาท คิดเป็นเงินปันผลรวมทั้งสิ้น 305.05 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 ไปแล้วเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.1 บาท โดยจะจ่ายปันผลส่วนที่เหลือ ในอัตราหุ้นละ 0.26 บาท ซึ่งกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) ในวันที่ 20 มีนาคม 2567 และวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 19 มีนาคม 2567 และจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ทั้งนี้สิทธิในการรับเงินปันผลดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากต้องรอการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อน ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 23 เมษายน 2567