กรมอนามัย เตือนประชาชนเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ลดสูดฝุ่นละอองจากไฟไหม้ป่า จ.เชียงใหม่ และ จ.ชัยภูมิ

ข่าวทั่วไป Friday February 23, 2024 10:21 —ThaiPR.net

กรมอนามัย เตือนประชาชนเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ลดสูดฝุ่นละอองจากไฟไหม้ป่า จ.เชียงใหม่ และ จ.ชัยภูมิ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ และศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา เร่งประสานงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าในจังหวัดเชียงใหม่และชัยภูมิ พร้อมแนะนำประชาชน เลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็กหญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ที่ต้องมีการเฝ้าระวังทางสุขภาพอย่างใกล้ชิด

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน และปีนี้มีแนวโน้มอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา อาจทำให้เกิดไฟไหม้ป่าในหลายพื้นที่ ล่าสุด เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และอุทยานแห่งชาติภูแลนคา อุทยานแห่งชาติน้ำตกตาดโตน จังหวัดชัยภูมิ เปลวไฟลุกลามไปทั่วทั้งภูเขายังไม่สามารถดับไฟได้ มีควันไฟฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวมีฝุ่น PM2.5 สูงเกินมาตรฐาน ซึ่งสาเหตุการเกิดไฟไหม้คาดว่าอาจมาจากการเผาป่าเพื่อเก็บหาของป่า การล่าสัตว์ รวมถึงการเผาพื้นที่เกษตรก่อนเตรียมการเพาะปลูก และเผาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตจนลุกลามและทวีความรุนแรงขึ้น

นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า ความเสี่ยงทางสุขภาพที่เกิดจากเหตุไฟไหม้ป่า คือ ควันไฟ เขม่า เถ้า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มของก๊าซอันตราย ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจของประชาชน ทำให้เกิดปัญหากลิ่นเหม็นควัน หายใจลำบาก หายใจติดขัด ไอรุนแรง ปวดหัว เวียนหัว แสบตา จมูก มีภาวะภูมิแพ้กำเริบในกลุ่มผู้ป่วยบางราย และมีอาการคัน ผื่นขึ้นผิวหนัง หากสถานการณ์ไฟไหม้ป่าดังกล่าวยังไม่สามารถควบคุมได้ ประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และทำให้มีภาวะเจ็บป่วยรุนแรงได้ กรมอนามัย จึงขอแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงจุดเกิดไฟไหม้ป่า หรือได้รับผลกระทบจากควันไฟ เขม่า เถ้า และฝุ่นละอองให้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ
ดังนี้

1) หลีกเลี่ยงการเข้าไปใกล้พื้นที่เกิดเหตุโดยเด็ดขาด 2) แจ้งคนในครอบครัวให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน และงดการออกกำลังกายกลางแจ้ง ในช่วงได้รับผลกระทบ แต่หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านต้องสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กทุกครั้ง 3) สังเกตอาการตนเอง และคนในครอบครัว หากมีการผิดปกติจากการสูดดมควันไฟและสารมลพิษ เช่น ไอ หายใจลำบาก แน่นหรือเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ ปวดศีรษะ มีอาการทางผิวหนังผิดปกติ เป็นต้น ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่และพบแพทย์ในสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที 4) กรณีหน่วยงานภาครัฐแจ้งเตือนให้มีการอพยพจากบ้านเรือน ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด และ 5) ห้ามจุดไฟ เผาขยะเผาหญ้า เผาป่า หรือสูบบุหรี่ในบริเวณที่มีเชื้อเพลิงโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันการเกิดไฟไหม้ซ้ำในพื้นที่

"ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ เร่งหามาตรการในการควบคุม กำกับ ป้องกันการเกิดไฟไหม้ป่าที่อาจเกิดขึ้นซ้ำได้อีก และขอให้ประชาชนที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ป่า หมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ หากพบการกระทำที่มีความเสี่ยงทำให้เกิดไฟไหม้ เช่น จุดไฟเผาหญ้าริมทาง สูบบุหรี่ในพื้นที่ป่า หรือเผาขยะในครัวเรือน หรือหากพบควันไฟ หรือเปลวไฟเพียงเล็กน้อย ให้รีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้เร็วที่สุด เพื่อให้หน่วยงานเข้าเผชิญเหตุ และเร่งดับไฟไหม้ในพื้นที่ป่าได้รวดเร็ว ลดการลุกลาม ลดปัญหาควันไฟและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทำให้เกิดความเสี่ยงที่น้อยที่สุดกับประชาชน" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ