เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 67 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท) หรือ ไทยพีบีเอส นำโดย รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท., นายสมยศ เกียรติอร่ามกุล รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านหลอมรวมเนื้อหา, นายปรเมศวร์ มินศิริ รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านพัฒนาองค์การ และนายคริษ อรรคราช ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์เนื้อหา พร้อมคณะฯ ร่วมกับ มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีรองศาสตราจารย์นราพร จันทร์โอชา รองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ, นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ กรรมการบริหารและผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิฯ, พลโท กฤษณะ วโรภาษ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายฯ, นางวิภา ตัณฑุลพงษ์ อนุกรรมการด้านวิชาการและรองหัวหน้าสำนักงานฯ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมลงนามในบันทึกต่อท้ายข้อตกลงขยายระยะเวลาความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมการให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของมูลนิธิฯ ที่ดำเนินงานให้บริการการศึกษาทางไกลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นไปตามพระราชปณิธานการก่อตั้งมูลนิธิฯ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มุ่งมั่นให้การศึกษาสร้างคนไทยให้มีทัศนคติที่ดีและถูกต้อง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง มีอาชีพมีงานทำ และเป็นพลเมืองดี มีระเบียบวินัย โดยส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนได้รับชมรายการที่มีประโยชน์ เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย ณ ห้องประชุม อาคาร A ชั้น 1 สำนักงานมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์
รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. กล่าวว่า "ไทยพีบีเอส และ มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีความร่วมมือในการส่งเสริมการให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน มาตั้งแต่ปี 62 โดยได้มีการแลกเปลี่ยน นำเอารายการของไทยพีบีเอสไปออกอากาศ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV และไทยพีบีเอสได้นำรายการการ์ตูนแอนิเมชัน 3D "เดอะไดอารี่ บันทึกประวัติศาสตร์ชาติไทย กับสถาบันพระมหากษัตริย์" จำนวน 68 ตอน ไปผลิตบริการภาษามือ และคำบรรยายภาษาไทย และเผยแพร่ในช่องทางของ ไทยพีบีเอส โดยภายหลังจากนี้ จะได้มีการนำการ์ตูนการ์ตูนแอนิเมชัน 2D "ภัยพิบัติทางธรรมชาติ" จำนวน 38 ตอน ของมูลนิธิฯ ไปผลิตบริการภาษามือ รูปแบบปกติทั่วไป (ภาษามือเล็ก มุมจอ) พร้อมคำบรรยายภาษาไทย เพื่อเผยแพร่ในช่องทางของมูลนิธิฯ และ รูปแบบ Big Sign (ภาษามือใหญ่ เต็มจอ) พร้อมคำบรรยายภาษาไทย สำหรับเผยแพร่ในแพลตฟอร์มวิภา (VIPA) ของ ไทยพีบีเอส รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางด้านองค์ความรู้ ในการจัดทำ "ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก" เพื่อใช้สำหรับสร้างสรรค์เนื้อหา และรายการที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของ DLTV ต่อไปด้วย"
ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก เป็นช่องทางเพื่อการเรียนรู้แบบมัลติแพลตฟอร์มที่ดึงการมีส่วนร่วมของ 4 องค์ประกอบ คือ เด็ก ครู ผู้ปกครอง และชุมชน เข้ามามีบทบาทสำคัญในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ มาร่วมกันสร้างนิเวศการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน ภายใต้การดำเนินการของ ไทยพีบีเอส โดยทำงานบนฐานเครือข่ายความร่วมมือกับ หน่วยงาน ด้านการศึกษาที่เข้ามามีส่วนร่วมกับ ALTV