เด็ก LD หรือ เด็กที่มีการเรียนรู้บกพร่อง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แพทย์ห่วงเด็กไทยเข้ารักษาน้อยมาก กระตุ้นทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ปัญหา

ข่าวทั่วไป Monday March 4, 2024 09:57 —ThaiPR.net

เด็ก LD หรือ เด็กที่มีการเรียนรู้บกพร่อง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แพทย์ห่วงเด็กไทยเข้ารักษาน้อยมาก กระตุ้นทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ปัญหา

LD คือ อะไร?

LD ย่อมาจากคำว่า learning disorder หรือในภาษาไทยใช้ชื่อว่า โรคการเรียนรู้บกพร่อง เป็นความผิดปกติของกระบวนการเรียนรู้ที่แสดงออกทางด้านการอ่าน การเขียนสะกดคำ การคำนวณและเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง ทำให้ผลการเรียนของเด็กต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง โดยที่เด็กมีสติปัญญาอยู่ในระดับปกติและมีความสามารถด้านอื่นๆปกติดี

แม้ในปัจจุบันความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเด็ก LD (Learning Disorder) หรือเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ในประเทศไทยจะขยายวงกว้างมากขึ้น แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ยังมีผู้ปกครองและคุณครูจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิด คิดว่าเด็ก LD ที่มีปัญหาด้านการอ่าน การเขียน การคำนวณ หรืออาจมีพฤติกรรมไม่สนใจและไม่มีสมาธิในการเรียน ทำงานช้าและไม่เสร็จ เป็นเด็กดื้อ เกเร Learning disorders หรือ Learning disabilities ทำให้เด็กไม่ได้รับการส่งเสริมทักษะเรียนรู้ที่ดีพอ จนอาจนำไปสู่การสร้างปัญหาต่าง ๆ ตามมาในอนาคตได้ง่าย ทั้งที่เด็ก LD หลายคนมีความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัวเอง และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในอนาคต หากได้รับการพัฒนาที่ตรงจุดและเหมาะสม

โรคการเรียนรู้บกพร่อง หรือ แอลดี แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่

1.ความบกพร่องด้านการอ่าน

ความบกพร่องด้านการอ่านเป็นปัญหาที่พบได้มากที่สุดของเด็ก LD ทั้งหมด เด็กมีความบกพร่องในการจดจำ พยัญชนะ สระ และขาดทักษะในการสะกดคำ จึงอ่านหนังสือไม่ออกหรืออ่านช้า อ่านออกเสียงไม่ชัด ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้ อ่านข้าม อ่านเพิ่มคำ จับใจความเรื่องที่อ่านไม่ได้ ทำให้เด็กกลุ่มนี้มีความสามารถในการอ่านหนังสือต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน

2.ความบกพร่องด้านการเขียนสะกดคำ

ความบกพร่องด้านนี้ส่วนใหญ่จะพบร่วมกับความบกพร่องด้านการอ่าน เด็กมีความบกพร่องในการเขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง บางครั้งเรียงลำดับอักษรผิด จึงเขียนหนังสือและสะกดคำผิด ทำให้ไม่สามารถแสดงออก ผ่านการเขียนได้ตามระดับชั้นเรียน เด็กกลุ่มนี้จึงมีความสามารถในการเขียนสะกดคำต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน

3.ความบกพร่องด้านคณิตศาสตร์

เด็กขาดทักษะและความเข้าใจค่าของตัวเลข การนับจำนวน การจำสูตรคูณ การใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ จึงไม่สามารถคำนวณคำตอบจากการบวก ลบ คูณ หาร ตามกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ได้ เด็กกลุ่มนี้จึงมีความสามารถในการคิดคำนวณ ต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน

อะไรคือสาเหตุของโรค LD ?

  • การทำงานของสมองบางตำแหน่งบกพร่อง โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และการใช้ภาษา
  • กรรมพันธุ์ มีพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องมีปัญหาเดียวกัน
  • ความผิดปกติของโครโมโซม

แพทย์สามารถวินิจฉัยเด็ก LD ได้อย่างไร?

การรวบรวมประวัติการเรียนและพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็กแต่ละด้านเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ประกอบการวินิจฉัย รวมทั้งรายงานจากครูประจำชั้น การทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียน เด็ก LD จะมีความสามารถในการเรียนรู้ต่ำกว่าเพื่อนนักเรียนในชั้นอย่างชัดเจนและเป็นปัญหาที่กระทบต่อการเรียนอย่างต่อเนื่อง เด็ก LD มีปัญหาทางจิตเวชอื่นๆ ที่พบร่วมกันได้ถึงร้อยละ 40 - 50 เช่น โรคสมาธิสั้น ความบกพร่องด้านภาษาและการสื่อสาร ปัญหาการประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อมือและสายตา

ตัวเลขสถิติทั่วโลกตรงกันว่า 5% ของเด็กชั้นประถมเป็นโรค LD ถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย โดยจะพบแบบรุนแรง 1-2% ส่วนที่เหลือ 3% เป็นแบบไม่รุนแรงสามารถช่วยตัวเองได้ ทั้งนี้ พบว่าเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงเป็น LD มีตัวเลขใกล้เคียงกัน แต่เด็กผู้ชายมักถูกส่งมาพบแพทย์มากกว่า เนื่องจากมีพฤติกรรมดื้อและซน ในขณะที่เด็กผู้หญิงมักจะเรียบร้อย ไม่ค่อยแสดงออก ส่วนโรคร่วมอย่างสมาธิสั้นจะพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิงอย่างชัดเจน  

สิ่งที่น่ากังวลสำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยคือ พบว่ามีเด็ก LD เข้าสู่ระบบการช่วยเหลือของโรงพยาบาลจำนวนน้อยมาก เนื่องจากผู้ปกครองบางคนต้องทำงาน ไม่มีเวลา หรือบางคนมองว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก ทั้งที่เด็กหลายคนมีความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัวเอง และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในอนาคต หากได้รับการพัฒนาที่ตรงจุดและเหมาะสม โดยการช่วยเหลือหากเริ่มตั้งแต่ยิ่งเล็กยิ่งดี

กระตุ้นทุกฝ่ายต้องพร้อมใจกันช่วยแก้ปัญหา

อันดับแรกคือ พ่อแม่ต้องเปิดใจ เพราะลูกเป็นโรคต้องการความช่วยเหลือ ไม่ได้เกเรหรือขี้เกียจ การหลบเลี่ยงเป็นผลที่ปลายเหตุ โดยกระบวนการรักษาจะแนะนำทั้งผู้ปกครอง ลูก และโรงเรียน ตัวอย่างเช่น  โรงเรียนควรจัดทำแผนการเรียนรายบุคคลให้สอดคล้องกับระดับความบกพร่องของเด็กแต่ละด้าน โดยทำความเข้าใจกับครูถึงปัญหาและความบกพร่องของเด็ก เน้นการสอนเสริมในทักษะที่บกพร่อง เช่น การสะกดคำ อ่าน เขียน สอนเป็นกลุ่มย่อยหรือตัวต่อตัว ครั้งละ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 4-5 วัน การช่วยอ่านบทเรียนให้ฟัง เพื่อให้เด็กได้เนื้อหา ความรู้ ได้เร็วขึ้น การให้เวลาในการทำสอบเพิ่มขึ้น เพื่อให้เด็กมีเวลาเพียงพอในการ อ่านโจทย์ และเขียนตอบ จะช่วยให้เด็กเรียนได้ดีขึ้น และควรส่งเสริมทักษะด้านอื่นๆ ที่เด็กสนใจ เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

"ทั้งนี้ เด็ก LD ต้องการความช่วยเหลือตั้งแต่วัยเล็ก ๆ เพื่อช่วยให้เชื่อว่าเขาทำได้ ไม่ได้เป็นคนล้มเหลว รวมถึงหาความสามารถพิเศษร่วมไปด้วยและต้องมีการฝึกฝน ที่สำคัญพ่อแม่ต้องมีทีมช่วยเหลือที่เข้มแข็ง คุณครูต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ดี เพื่อคัดกรองและประเมินเด็ก โดยรวมคือทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกัน ตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน และผู้เชี่ยวชาญที่จะมาช่วยเหลือเด็ก เพื่อให้ได้รับการพัฒนาที่ตรงจุดและเหมาะสม" รศ.นพ.มนัท สูงประสิทธิ์ จิตแพทย์เด็ก โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านจิตเวช BMHH หรือ  Bangkok Mental Health Hospital


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ