กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--กทม.
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนแอของครอบครัว ปัญหาทรัพยากร จากปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมสร้างความอ่อนแอให้กับคนไทยทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเกิดกับเด็กและเยาวชน ผู้หญิง ผู้พิการ ครอบครัว ชุมชน และสังคม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ทางสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ที่เล็งเห็นปัญหาและให้ความสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จึงได้หาทางออกให้กับปัญหาเหล่านี้ โดยการกำหนดยุทธศาสตร์ให้กับชุมชนขึ้น โดยให้ชุมชนจัดทำแผนชุมชนแบบมีส่วนร่วม ตามโครงการแผนชุมชนพึ่งตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
นางเพียงใจ วิศรุตรัตน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่าในฐานะที่กรุงเทพมหานครเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการที่จะมาเสริมสร้างชุมชนให้มีความเจริญ สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ในท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่สำคัญก็คือว่าในเรื่องของการตอบ สนองความต้องการของคนในท้องถิ่นได้อย่างดี เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ทำให้ทาง สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร จึงต้องมากำหนดนโยบายที่จะต้องดำเนินการในเรื่องต่างๆ ในการพัฒนากรุงเทพฯ
ตั้งแต่มีการจัดตั้งกรุงเทพมหานคร ก็ได้มีการจัดทำแผนพัฒนากรุงเทพมหานครขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาจะเน้นไปที่โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเป็นหลัก เพราะนักวิชาการหลายท่านเสนอว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น และเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิต แต่เราไม่ได้นึกถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนว่าอาจจะไม่ได้ต้องการสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด บางเรื่องก็เป็นสิ่งที่ชุมชนไม่ต้องการ สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ กทม. ต้องกลับมาคิดว่าถ้าเราอยากให้ชุมชนได้ร่วมมือกับเรา และอยากจะแก้ไขปัญหาของชุมชนได้อย่างแท้จริง ก็แปลว่าชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมและริเริ่มในการจัดทำ
ฉะนั้นในปี 2548 เป็นต้นมา สมัยของ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่า กทม. จึงได้มีการปรับเปลี่ยนจากการที่ให้มีการจัดทำ “แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร” เป็น “แผนบริหารราชการกรุงเทพมหานคร” ในระยะ 4 ปี คือ ปี 2548 - 2551 ซึ่งทางสำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขต ก็จะมีการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปี โดยมาเน้นหนักในการจัดทำแผนแต่ละปีว่าจะมีโครงการอะไรบ้างที่จะตอบสนองความต้องการของชาวบ้านเป็นหลัก
สิ่งที่เป็นแรงจูงใจสำหรับกรุงเทพมหานคร อีกเรื่องที่สำคัญ คือ ได้ให้ทางบริษัทกรุงเทพธนาคม ได้ทำการวิจัยพระราชดำริการบริหารจัดการกรุงเทพมหานคร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่ามีอยู่ 1 เรื่อง คือ ตั้งแต่ปี 2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ตรัสไว้ว่า ในงานวันแซยิกของพระองค์ท่าน ครบ 84 ปี ในปี พ.ศ. 2554 พระองค์ท่านอยากเห็นกรุงเทพมหานครเป็นเมืองสวรรค์คืออยากเห็นว่ามีการปรับปรุงที่ดีขึ้น ตรงนี้จึงเป็นจุดประกายความคิดให้กับ กทม.ว่าเราจะทำอย่างไรให้ กทม.เป็นเมืองสวรรค์ อย่างที่พระองค์ท่านต้องการเห็นในปี 2554
เพราะฉะนั้นเราจึงมีนโยบายในเรื่องที่จะพัฒนา กทม. และได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า กทม.เป็นเมืองหน้าอยู่อย่างยั่งยืน ชุมชนเข้มแข็ง ครอบครัวอบอุ่น ด้วยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม แล้วจะทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ ก็คือการทำแผน การจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเองนั้นก็เป็นไปตามนโยบาย กทม.ได้กำหนดนโยบายสาธารณะขึ้นมา ซึ่งมี 6 ด้าน คือ
- กทม.เป็นเมืองแห่งความสะดวกและปลอดภัย ก็จะเกิดโครงการต่างๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้ามหานคร โครงการไฟฟ้าแสงสว่าง
- กทม.เป็นมหานครแห่งสิ่งแวดล้อม เน้นมาที่การให้เกิดพื้นที่สีเขียว มิติทางด้านดูแลมลพิษ เช่นการรณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อน
- กทม.เป็นมหานครแห่งการเรียนรู้ เพราะคนทุกเพศ ทุกวัย สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ฉะนั้นการทำงานในช่วงนี้คือเริ่มตั้งแต่การศึกษาในระบบและนอกระบบ เริ่มตั้งแต่ศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียน โรงเรียนอนุบาล ประถม มัธยม โรงเรียนฝึกอาชีพของ กทม. รวมทั้งในเรื่องของบ้านหนังสือ ศูนย์เยาวชน ห้องสมุด ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องการเรียนรู้
- กทม.เป็นเมืองสุขภาพดี ผู้คนมีความสุข โดยเน้นตั้งแต่สุขภาพอนามัย ทั้งในเรื่องของการปรับปรุงโรงพยาบาล ให้เป็นศูนย์แพทย์เฉพาะทาง มีศูนย์บริการสาธารณสุข มี อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน(อสส.) มีศูนย์สุขภาพชุมชนอยู่ในชุมชน และการทำให้ทุกคนมีความสุข ซึ่งเป็นหน้าที่ของทางสำนักพัฒนาสังคม คือการดูแลตั้งแต่เรื่องของเด็กเล็ก สตรี การยุติความรุนแรงในสตรี ในครอบครัว คนชรา ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ ซึ่งขณะนี้ได้มีการเซ็นต์ MOU ในแต่ละด้านที่จะเข้ามาดูแลสิ่งเหล่านี้ ให้ครบวงจรในเรื่องของทางด้านสังคม
- กทม.เป็นมหานครเปี่ยมเสน่ห์ คือเป็นเรื่องที่เป็นจุดแข็งของทาง กทม. ซึ่งนิตยสารท่องเที่ยวได้มีการสำรวจแล้วเห็นว่า กทม.เป็นเมืองน่าท่องเที่ยวมากที่สุดในลำดับที่ 3 ของโลก เมื่อทราบว่า กทม.มีจุดแข็ง ทาง กทม.จึงเข้ามาส่งเสริมเรื่องนี้ ที่ว่าเปี่ยมเสน่ห์นั้น ก็มีในเรื่องของการมีแหล่งท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่ ครบถ้วน อาหารไทย เสน่ห์ของแม่น้ำ และเรื่องของวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์
- กทม.เป็นเมืองแห่งความพอเพียง ซึ่งตรงนี้ก็เกี่ยวข้องกับสุขภาพดีทุกคนก็มีความสุข คือ การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การสร้างให้คนมีกินมีใช้ ซึ่งเป็นหลักที่นำมาใช้ในโครงการจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเอง ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาดำเนินการ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการระยะยาวที่ กทม.คิดขึ้นมาโดยให้เกิดความต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 48 - 51 โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรกคือ เริ่มปี 49 เป็นโครงการนำร่อง ใน 210 ชุมชน ระยะที่ 2 ใน 50 จำนวน 500 ชุมชน และ ระยะที่ 3 ใน 50 จำนวน 500 ชุมชน ซึ่งยังไม่ครบชุมชนซึ่งมีทั้งหมด 1,950 ชุมชน ซึ่งเป้าหมายของทาง กทม. คือการดำเนินการทั้ง 3 ระยะให้บรรลุเป้าหมายให้ได้
ในการจัดอบรมแกนนำชุมชนนี้ เหล่าแกนนำชุมชนจะได้รับความรู้เพิ่มเติม และได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่สิ่งสำคัญเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้คือท่านต้องนำกลับไปปฏิบัติในชุมชน และการที่จะทำให้แผนชุมชนเกิดความสำเร็จได้นั้นมีแนวทางหลักๆ อยู่ 2 เรื่อง คือ การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการจัดทำแผน และการนำหลักเรื่องการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในชุมชน รวมทั้งมีส่วนในเรื่องของกระบวนการเรียนรู้
ดังนั้นในการจัดเวทีเรียนรู้ การทำประชาพิจารณ์ ในชุมชน เป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจ การมีส่วนร่วมกันคิด ร่วมกันทำของคนในชุมชน โดยให้นึกถึงประโยชน์ที่สมาชิกในชุมชนจะได้รับเป็นหลัก รวมทั้งร่วมกันผลักดันให้นโยบายเหล่านี้สามารถขับเคลื่อนไปได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างยั่งยืน
เพื่อให้การทำงานสำเร็จตามเป้าหมาย ชุมชนก็จะมีนักพัฒนาชุมชนของแต่ละสำนักงานเขต ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมของทุกสำนักงานเขต และสำนักพัฒนาสังคม กทม. คอยให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะแก่ชุมชน การจะทำอย่างไรให้ กทม.เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนนั้น สิ่งสำคัญคือการคิด การดำเนินกิจกรรมจะต้องเริ่มจากชุมชนเป็นหลัก ทุกคนทุกภาคส่วนจะต้องร่วมด้วยช่วยกัน ดังนั้นชุมชนจึงเป็นรากฐานสำคัญ คนแข็งแรง ชุมชนแข็งแรง สังคมแข็งแรง ก็นำไปสู่ความแข็งแรงของประเทศชาติด้วย ดังนั้นกรุงเทพมหานครจึงคาดหวังที่จะให้วิสัยทัศน์ได้บรรลุวัตถุประสงค์ คือให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ครอบครัวมีความอบอุ่น ซึ่งนำไปสู่เรื่องของการที่จะให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหน้าอยู่ เป็นเมืองสวรรค์อย่างยั่งยืน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โสภิดา ธนสุนทรกูร(แบม)
โทรศัพท์ 0 2913 7555 ต่อ 4640 โทรสาร 0 2831 8499