ศปถ. รายงานสรุปสถิติอุบัติเหตุจราจรทางบก เปรียบเทียบในช่วงปี ๒๕๔๘ - ๒๕๕๐

ข่าวทั่วไป Thursday May 8, 2008 09:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--ปภ.
ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวบรวมและประมวลผลข้อมูลสถิติอุบัติเหตุจราจรทางบกในรอบ ๓ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ — ๒๕๕๐ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ ทางถนนของประเทศในช่วงเทศกาลสำคัญ และระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมุ่งเน้นการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ควบคู่กับการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดจิตสำนึก ด้านความปลอดภัยทางถนน และร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้ดำเนินการรวบรวมและประมวลผลข้อมูลสถิติอุบัติเหตุจราจรทางบกในรอบ ๓ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ — ๒๕๕๐ มาวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อนำไปใช้การวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระยะยาวของประเทศ ซึ่งจากสถิติดังกล่าว พบว่า จำนวนคดีอุบัติเหตุจราจรทางถนนในปี ๒๕๔๘ เกิดขึ้น ๑๒๒,๑๒๒ ครั้ง ปี ๒๕๔๙ เกิดขึ้น ๑๑๐,๖๘๖ ครั้ง และในปี ๒๕๕๐ เกิดขึ้น ๑๐๑,๗๕๒ ครั้ง สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ปี ๒๕๔๘ จำนวน ๑๒,๘๗๑ คน ปี ๒๕๔๙ จำนวน ๑๒,๖๙๓ คน และปี ๒๕๕๐ จำนวน ๑๒,๔๙๒ คน ส่วนผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ปี ๒๕๔๘ จำนวน ๙๔,๔๔๖ ราย ปี ๒๕๔๙ จำนวน ๘๓,๒๙๐ ราย และในปี ๒๕๕๐ จำนวน ๗๙,๐๒๙ ราย โดยช่วงเดือนที่เกิดอุบัติเหตุจราจรมากที่สุด ได้แก่ ช่วงเดือนมกราคมกับเดือนธันวาคม เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวและมีวันหยุดติดต่อกัน หลายวัน ประชาชนจึงมักนิยมเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนา ทำให้มีความเสี่ยงสูงในการการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งนี้ จากสถิติอุบัติเหตุจราจร ทางบกในภาพรวม พบว่า สถิติคดีอุบัติเหตุจราจร จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ ในปี ๒๕๕๐ มีแนวโน้มลดลงจากปี ๒๕๔๘ และ ๒๕๔๙ ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนมากยิ่งขึ้น โดยได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ให้เป็นองค์กรหลักในการบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับประเทศ โดยดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก ๕ ด้านอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมาย วิศวกรรมจราจร การให้ความรู้ การประชาสัมพันธ์ ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน การประเมินผล และสารสนเทศ ประกอบกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ด้วยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และปลูกจิตสำนึก ด้านความปลอดภัยทางถนน จนเกิดกระแสความร่วมมือในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ส่งผลให้สถิติอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการวางแผน กำหนดและปรับปรุงยุทธศาสตร์ การดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมาย และมีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ในระดับประเทศ ทั้งในช่วงเทศกาลสำคัญและระยะยาวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจะได้ประสานให้จังหวัดนำข้อมูลดังกล่าวไปวิเคราะห์ เพื่อวางแผนการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของแต่ละจังหวัด โดยจะมุ่งเน้นการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ได้แก่ เร็ว เมา ง่วง โทร ควบคู่กับการให้ความรู้เกี่ยวกับวินัยจราจร การใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เริ่มจากระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการใช้ถนน และร่วมเป็นเจ้าภาพในการสร้างความปลอดภัยทางถนนของประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ