ดีป้า พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตร ในนาม TH.ai จัดงาน TH.ai Forum EP01: AI Trend in Agriculture เดินหน้าขับเคลื่อนแนวทางส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเอไอในทุกมิติ โดยเริ่มต้นจากภาคเกษตรกรรม คาดกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศสามารถเข้าถึงและเข้าใจเทคโนโลยีเอไอ ก่อนนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการก้าวกระโดดและส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศ ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้เทคโนโลยีเอไอในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมไทยมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกัน ประเทศไทยยังขาดแคลนเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) ที่เกิดจากการพัฒนาโดยฝีมือคนไทย ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ
ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อน 5 องค์ประกอบสำคัญเพื่อให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดังกล่าว และรองรับความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับเอไอจากนอกประเทศ (AI Importer) การส่งเสริมการพัฒนาเอไอภายในประเทศ (AI Provider) การประยุกต์ใช้เอไอเพื่อพัฒนาบริการดิจิทัล (AI Distributor) การยกระดับกำลังคนดิจิทัลสาขาเอไอ (AI Manpower) การสร้างความตระหนักรู้แก่คนไทยเพื่อประยุกต์ใช้เอไออย่างปลอดภัย (AI User) และควรวางแนวทางการประยุกต์ใช้เอไอในด้านต่าง ๆ เช่น Generative AI Guideline, Responsible AI Guideline, AI Ethics Guideline Synthesis AI Guideline และ AI Algorithms Guideline
ด้วยเหตุนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) โดย ดีป้า จึงได้ร่วมกับ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย หอการค้าไทย บริษัท วิสัย เอไอ จำกัด และ บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด ในนาม TH.ai (Thailand Artificial Intelligence) จัดงาน TH.ai Forum EP01: AI Trend in Agriculture เพื่อเปิดมุมมอง พร้อมขับเคลื่อนแนวทางส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีเอไอมาประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมในทุกอุตสาหกรรม โดย EP01 เริ่มต้นกับอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า และผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเอไอของประเทศร่วมงานโดยพร้อมเพรียง
ทั้งนี้ ภายในงานดังกล่าวมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ 'AI Trends in Agriculture Industry' โดย นายพิชัย องค์วาสิฏฐ์ Data Platform Director บริษัท ซีพีเอฟ ไอทีเซ็นเตอร์ จำกัด (AXONS) และ การเสวนาในหัวข้อ 'AI Startup Revolutionizing Agriculture' โดย ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ซีอีโอ บริษัท ลิสเซินฟิลด์ จำกัด (ListenField) นายสมพล สุนทระศานติก Head of Hardware Engineering บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด (HiveGround) และ นายภูวินทร์ คงสวัสดิ์ ซีอีโอ บริษัท อีซีไรซ์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จำกัด (EASYRICE)
"เครือข่าย TH.ai เป็นการรวมตัวกันของหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีเอไอของประเทศในทุกมิติผ่านแผนการส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาที่ชัดเจน ซึ่ง TH.ai หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมภายใต้เครือข่ายที่จัดขึ้นจะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศสามารถเข้าถึงและเข้าใจเทคโนโลยีเอไอ ก่อนนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้องและตรงจุด อีกทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศในอนาคต" ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
นอกจากงาน TH.ai Forum ที่จัดขึ้นในวันนี้ ก่อนหน้านี้ เครือข่าย TH.ai ได้จัดกิจกรรมระดมความคิดเพื่อค้นหาความต้องการใช้เอไอของภาคเอกชน และหลังจากนี้จะมีการจัดกิจกรรมภายใต้เครือข่ายอีก 3 ครั้ง โดยเนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพและการดูแลสุขภาพ (Health and Wellness) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ (Tourism and Services) และอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์และซอฟต์พาวเวอร์ (Digital Content and Soft Power) ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารและรายละเอียดของกิจกรรมได้ทาง Facebook Page: depa Thailand และ LINE OA: @depaThailand
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงดีอี โดย ดีป้า อยู่ระหว่างเสนอให้มีการปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) และร่วมจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานด้านเอไออย่างเป็นรูปธรรมต่อไป