EY เผย GenAI ส่งผลต่อความเสี่ยงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 7, 2024 10:36 —ThaiPR.net

EY เผย GenAI ส่งผลต่อความเสี่ยงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
  • ความกังวลด้านความปลอดภัยคือความเสี่ยงอันดับหนึ่ง โดยมี Generative AI เป็นปัจจัยเร่ง
  • ทาเลนท์เป็นความเสี่ยงใหม่ที่ติด 10 อันดับแรก ท่ามกลางการจัดการด้านการเงินและความต้องการพนักงานที่มีทักษะดิจิทัลอย่างเร่งด่วน
  • การตอบสนองต่อผู้บริโภคในช่วงวิกฤตค่าครองชีพยังคงเป็นความเสี่ยง ในอาเซียน การเปลี่ยนจากบริษัทโทรคมนาคมสู่องค์กรเทคโนโลยีส่งผลให้การมีส่วนร่วมกับระบบนิเวศภายนอกมีความสำคัญมากขึ้น

กรุงเทพฯ, 7 มี.ค. 2567 การตระหนักถึงความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย และความไว้วางใจกลายเป็นความเสี่ยงสูงสุดที่บริษัทโทรคมนาคมต้องเผชิญในปี 2567 ตามรายงานผลการศึกษาของ EY "Top 10 risks in telecommunications" ที่ระบุว่า องค์กรถูกท้าทายมากขึ้นจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยเทคโนโลยี Generative Artificial Intelligence (GenAI) กำลังสร้างปัญหาให้กับการกำกับดูแลข้อมูลขององค์กร

ความเสี่ยง 10 อันดับแรก ในปี 2567 ได้แก่

  • การประเมินด้านการตระหนักถึงความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย และความไว้วางใจของผู้บริโภคต่ำเกินไป
  • การตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่ขาดประสิทธิภาพในช่วงวิกฤตค่าครองชีพที่สูงขึ้น
  • การบริหารจัดการทาเลนท์และการสร้างพนักงานที่มีทักษะไม่เพียงพอและทันต่อความต้องการ
  • การจัดการวาระความยั่งยืนอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
  • ความล้มเหลวของการใช้ประโยชน์จากรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ
  • การไม่สามารถส่งมอบคุณค่าที่นำเสนอ (Value Proposition) และเครือข่ายที่เสถียรและมีคุณภาพ
  • ความล้มเหลวของการปรับปรุงวัฒนธรรมองค์กรและวิธีการทำงาน
  • การมีส่วนร่วมกับระบบนิเวศภายนอกอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
  • การปรับองค์กรไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบ
  • ความล้มเหลวในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐาน
  • ผลสำรวจจากรายงานการศึกษาพบว่า ผู้บริหารในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม 68% ระบุว่า พวกเขายังไม่สามารถรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากการใช้ AI ได้ดีพอ และ 74% กล่าวว่า พวกเขาต้องเตรียมพร้อมให้มากขึ้นเพื่อลดผลกระทบจาก "ผู้ไม่ประสงค์ดี" ที่อาจนำ AI มาช่วยโจมตีทางไซเบอร์และคุกคามด้านอื่นๆ[1] ในขณะเดียวกัน 53% ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดการความเสียหายจากการละเมิดทางไซเบอร์ขององค์กรในปี 2566 เกินกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท (3 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 40%[2]

    การใช้งาน AI ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประเด็นด้านกฎระเบียบขยับขึ้นจากความเสี่ยงในอันดับสิบเป็นอันดับเก้า รายงานการศึกษาระบุว่า กฎระเบียบของการใช้ AI ทำให้เกิดความไม่แน่นอนต่อบริษัทโทรคมนาคม แรงกดดันต่างๆ เหล่านี้เน้นย้ำให้เห็นถึงความแตกต่างในนโยบายที่เกิดขึ้นใหม่ของประเทศต่างๆ และการสร้างความสมดุลระหว่างแนวปฏิบัติด้าน AI และร่างกฎหมายที่วางแผนไว้ ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป มีความกังวลว่ากฎระเบียบการใช้ AI อาจขัดขวางการสร้างนวัตกรรมและจำกัดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ[3]

    คุณเติม เตชะศรินทร์ หุ้นส่วนสายงานบริการที่ปรึกษาธุรกิจ และ Technology, Media and Telecommunications Sector Leader ของ EY ประเทศไทย กล่าวว่า

    "สำหรับภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย GenAI ถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ผู้ให้บริการโทรคมนาคมได้นำ Gen AI มาใช้ในหลายส่วนแล้ว เช่น การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า และจะนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพด้านการปฏิบัติการและพัฒนาเครือข่าย ในขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการได้คำนึงถึงการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยพิจารณาในหลายแง่มุม ทั้งด้านเทคโนโลยีจริยธรรม และผลกระทบที่มีต่อมนุษย์"

    ขับเคลื่อนองค์กรเพื่อดึงดูดและรักษาทาเลนท์

    การไม่สามารถบริหารจัดการทาเลนท์และไม่สามารถสร้างพนักงานที่มีทักษะให้ทันต่อความต้องการ ติด 10 อันดับความเสี่ยงเป็นครั้งแรก โดยติดเป็นอันดับสาม ซึ่ง AI มีส่วนสำคัญ การพัฒนาเทคโนโลยี GenAI และเทคโนโลยีประมวลผล Edge Computing อย่างต่อเนื่องส่งผลให้ความต้องการพนักงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนั้น การขาดแคลนวิศวกรเครือข่ายได้สร้างความท้าทายให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องเร่งรับมือ[4]

    แนวโน้มดังกล่าว ประกอบกับการบริหารจัดการด้านการเงินได้สร้างความท้าทายให้กับองค์กรในการดึงดูดทาเลนท์ หรือสร้างพนักงานที่มีทักษะในอนาคต บริษัทโทรคมนาคมมากกว่าครึ่ง (55%) ระงับการจ้างงาน ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ (28%) เกือบสองเท่า และ 61% ของบริษัทโทรคมนาคมระบุว่า การรักษาพนักงานที่มีความสามารถทำได้ยากขึ้น จากการที่บริษัทต้องลดเงินเดือนและสวัสดิการลง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามลดต้นทุน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภาคธุรกิจ (44%)[5]

    คุณเติม กล่าวว่า "สถานการณ์ของไทยคล้ายกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ผู้ให้บริการโทรคมนาคมเผชิญกับความท้าทายในการสรรหาพนักงานที่มีทักษะ เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัล พนักงานกลุ่มนี้เป็นที่ต้องการของบริษัทในหลายอุตสาหกรรม จะถูกดึงตัวโดยบริษัทโทรคมนาคม บริษัทเทคโนโลยี หรือสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงิน โดยบริษัทโทรคมนาคมสามารถรับมือกับปัญหานี้ได้ด้วยการเสนอความก้าวหน้าในอาชีพ รวมถึงการเสนอหลักสูตรที่มีประกาศนียบัตรรับรองเฉพาะทาง เพื่อจูงใจให้พนักงานเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากนั้น การเปิดรับบุคลากรที่มีพื้นฐานแตกต่างและหลากหลาย และยกระดับทักษะของพนักงานที่มีอยู่อาจช่วยให้เห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของพนักงาน หากองค์กรไม่ให้ความสำคัญ อาจส่งผลต่อวัฒนธรรมองค์กรที่จะช่วยพัฒนาและสร้างนวัตกรรม รวมถึงส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจ"

    ผู้บริโภคต้องการข้อเสนอที่ดีกว่า

    การตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในช่วงวิกฤตค่าครองชีพที่สูงขึ้น ยังคงเป็นความเสี่ยงในปี 2567 โดยตกจากอันดับหนึ่งลงมาอยู่อันดับสอง ผู้บริโภค 16% พยายามลดค่าใช้จ่ายของบริการอินเตอร์เน็ตบ้านและโทรศัพท์มือถืออย่างจริงจัง แต่ผู้บริโภคจำนวนมากมองหาข้อเสนอที่ดีกว่าเดิม ซึ่งในจำนวนนี้ 60% ยอมรับว่า วิกฤตค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้พวกเขาเลือกสรรมากขึ้นเพื่อข้อเสนอที่ดีที่สุด และสัดส่วนของผู้บริโภคที่เข้าเว็บไซต์เพื่อเปรียบเทียบราคา หรือขอคำแนะนำจากเพื่อนและสมาชิกในครอบครัว เพิ่มขึ้นจาก 19% ในปี 2565เป็น 30% ในปี 2566[6]

    [1] "EY CEO Outlook Pulse Survey," (telco respondents), Jul 2023.[2] "EY 2023 Global Cybersecurity Leadership Insights Study," (telco CISO respondents), Oct 2023.[3] "The Artificial Intelligence global regulatory landscape," EY, Sep 2023.[4] "Telecommunications Workforce: Additional Workers Will Be Needed to Deploy Broadband, but Concerns Exist About Availability," US Government Accountability Office, Dec 2022.[5] "EY 2023 Work Reimagined Survey," (telco respondents), Sep 2023.[6] EY decoding the digital home study, September 2023


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ