สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) เผยสถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้าน 2 เดือนแรกของปีนี้ ส่อเค้า 'ซึมยาว' กำลังซื้อหดตัว ผู้บริโภคเบรคสั่งสร้างบ้าน เร่งรัฐออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสแรก หวังฟื้นความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับมาโดยเร็ว พบยอดสั่งสร้างบ้านในงาน 'รับสร้างบ้านและวัสดุ Focus 2024' ลดลง 20% หวั่นภาพรวมตลอดปีติดลบหนัก
นายโอฬาร จันทร์ภู่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builder Association : HBA) เปิดเผยว่า สถานการณ์ธุรกิจรับสร้างบ้านขณะนี้เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้วยังไม่ฟื้นตัวนับตั้งแต่เผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน รวมทั้งได้รับผลกระทบจากต้นทุนรวมการก่อสร้างบ้านที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้าง, อัตราดอกเบี้ยสร้างบ้าน และอัตราค่าแรงที่สูงขึ้น ทำให้ราคาบ้านสั่งสร้างปรับขึ้นมาประมาณ 5-7% ในรอบปีที่ผ่านมา ทำให้ส่งผลต่อการตัดสินใจสั่งจองสร้างบ้านของผู้บริโภค
ทั้งนี้ สมาคมฯ และบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกได้พยายามปรับตัวและร่วมกันผลักดันกิจกรรมทางการตลาดมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ได้จัดงานใหญ่ "รับสร้างบ้านและวัสดุ Focus 2024 : ใหญ่ ครบ จบที่เดียว" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 - 25 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อิมแพ็ค ฮอลล์ 8 เมืองทองธานี โดยในงานได้นำเสนอแบบบ้านใหม่ พร้อมอัดโปรโมชั่นจำนวนมากเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ แต่ผลตอบรับกลับไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยผลของการจัดงานตลอด 9 วัน มียอดสั่งสร้างบ้านลดลง 20% เมื่อเทียบกับการจัดงานเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา
"กำลังซื้อของผู้บริโภคที่หดตัวอย่างเห็นได้ชัดเจน และมีแนวโน้มว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าเศรษฐกิจมีความเปราะบาง ผู้บริโภคไม่กล้าตัดสินใจใช้จ่าย ทางสมาคมฯ จึงขอให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นการเร่งด่วน เพราะหากออกมาได้ทันภายในไตรมาสแรกของปีนี้จะเป็นแรงส่งที่ดีอย่างมากในการกระตุ้นกำลังซื้อ และหนุนตลาดรับสร้างบ้านให้กลับมามียอดสั่งสร้างที่ดีขึ้นในไตรมาสที่สองของปีนี้ แต่ถ้าหากมาตรการรัฐออกมาล่าช้า อาจส่งผลให้ภาพรวมตลาดติดลบหนัก" นายโอฬาร กล่าว
สำหรับมาตรการที่ได้นำเสนอภาครัฐเพื่อพิจารณาไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ การลดหย่อนภาษีสำหรับผู้บริโภคที่ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินตัวเอง สามารถนำมูลค่าสร้างบ้านที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ตามเอกสารอากรแสตมป์ (อ.ส.5) นำไปลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาในรอบภาษีปีถัดไปได้ในอัตราลดหย่อนล้านละ 10,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท สนับสนุนดอกเบี้ย 3% สำหรับกู้ปลูกสร้างบ้าน 5 ปี ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้กำลังซื้อส่วนใหญ่ในตลาดคลายความกังวล และมั่นใจมากขึ้นจากมาตรการของภาครัฐที่ออกมากระตุ้น และสร้างความเชื่อมั่น โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ต้องการสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัย ขณะเดียวกันยังเป็นตัวเร่งให้เกิดการใช้จ่าย ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งธุรกิจรับสร้างบ้าน รวมถึงเศรษฐกิจทั้งระบบให้พลิกฟื้นกลับมาโดยเร็ว