กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--กรมการค้าต่างประเทศ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า อียูได้ประกาศกฎระเบียบการใช้วัสดุและบรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหารที่ผลิตจากพลาสติกที่ได้จากการรีไซเคิล (Commission Regulation (EC) No. 282/2008) โดยปรับแก้ไขกฎระเบียบเดิมที่ประกาศใช้เมื่อปี 2549 และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบว่าด้วยวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสอาหาร (Regulation (EC) No. 1935/2004) สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. กฎระเบียบนี้เป็นกฎระเบียบกลาง มีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2551 ขอบเขตของสินค้าครอบคลุมวัสดุและบรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหารที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลและภาชนะที่ใช้ห่อคลุม (Wrap) ตาม Directive 2002/72/EC โดยบังคับใช้ทั้งจากภายในอียูและสินค้าจากประเทศนอกอียู ยกเว้นวัสดุบรรจุภัณฑ์ต่อไปนี้
1.1 วัสดุและบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลที่ผลิตจาก monomers และ depolymerization
1.2 วัสดุและบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลที่ผลิตจากเศษพลาสติกที่เหลือจากการผลิตหรือแปรรูป
1.3 วัสดุและบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งพลาสติกรีไซเคิลนี้ถูกใช้เป็นที่กั้นพลาสติก (in which the recycled plastic is used behind a plastic functional barrier)
2. การวางจำหน่ายวัสดุและบรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหารซึ่งทำจากพลาสติกรีไซเคิล ต้องผลิตจากพลาสติกที่มีกระบวนการรีไซเคิลเป็นไปตาม Directive 2002/72/EC ซึ่งจะต้องมีการควบคุมจากระบบรับรองคุณภาพ (Quality assurance system) ตามภาคผนวกของระเบียบ Regulation (EC) No. 2023/2006 นอกจากนี้ ยังต้องแสดงเอกสารรายละเอียดทางเทคนิค (technical dossier) ที่ระบุข้อมูลการประเมินความปลอดภัยว่ากระบวนการผลิตปราศจากสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ (Challenge Test)
3. หน่วยงาน European Food Safety Authority: EFSA) จะออกคู่มือประเมินความปลอดภัยของกระบวนการรีไซเคิล (Guidelines for the safety assessment of a recycling process) เพื่อแนะนำการรีไซเคิลพลาสติก อย่างช้าที่สุด 6 เดือนนับจากวันประกาศใช้กฎระเบียบนี้
4. ผู้ประกอบการที่ใช้พลาสติกรีไซเคิลหรือโรงงานรีไซเคิลพลาสติกที่จะนำไปผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและต้องการส่งไปจำหน่ายในอียู จะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตกระบวนการผลิตต่อหน่วยงาน EFSA ผ่านหน่วยงานรับผิดชอบ (Competent Authority :CA) ของประเทศสมาชิกอียูที่ต้องการส่งสินค้าไปจำหน่าย โดยพิจารณาจากเอกสารรายละเอียดทางเทคนิค (technical dossier) ซึ่ง EFSA จะใช้เวลาพิจารณา 6 เดือน นับจากวันที่ได้รับคำร้อง เมื่อได้รับความเห็นชอบจาก CA ของประเทศสมาชิกแล้ว ก็จะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมาธิการยุโรปด้านห่วงโซ่อาหารและสุขภาพสัตว์ (EU Standing Committee on the Food Chain and Animal Health) ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่อียูจะอนุญาตกระบวนการรีไซเคิลนั้นอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ การยื่นขออนุญาตกระบวนการรีไซเคิลให้ดำเนินการภายใน 18 เดือน ภายหลังการจัดทำคู่มือประเมินความปลอดภัยของกระบวนการรีไซเคิลเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องติดฉลากบนบรรจุภัณฑ์ที่ใช้พลาสติกรีไซเคิล โดยอาศัยระเบียบการติดฉลากตามมาตรฐาน EN ISO 14021 หรือเทียบเท่า
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่าในปี 2550 ไทยส่งออกบรรจุภัณฑ์พลาสติกไปอียูมูลค่า 4,600 ล้านบาท ลดลงจากปี 2549 ซึ่งส่งออกมูลค่า 4,960 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7 ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยทั้งที่เป็นผู้ใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลและโรงงานรีไซเคิลพลาสติกเพื่อนำไปผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสอาหาร จึงควรจัดเตรียมเอกสารการประเมินความปลอดภัยของกระบวนการรีไซเคิลเพื่อยื่นต่อหน่วยงาน CA ของประเทศสมาชิกในอียูที่ตนติดต่อก่อนส่งออกสินค้าต่อไป