กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--กรมการค้าต่างประเทศ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า ตามระเบียบ RoHS ของอียู ซึ่งเป็นระเบียบที่ว่าด้วยการจำกัดการใช้สารอันตรายบางประเภทในผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย สารตะกั่ว (Pb) แคดเมี่ยม (Cd) ปรอท (Hg) โครเมียมเอ็กซาวาเลนท์ (Cr-vl) โพลีโบรมิเนท- ไบฟินิล (PBB) และ โพลีโบรมีเนท-ไดฟีนิล-อีเทอร์ (PBDE) ยกเว้น DecaBDE ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2549 โดยประเด็นการยกเว้น DecaBDE เป็นเรื่องที่มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและคัดค้าน จนมีการยื่นคำร้องต่อศาลอียู ซึ่งต่อมาศาลสูงอียูได้ตัดสินให้คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ถอน DecaBDE ออกจากรายการข้อยกเว้นของระเบียบ RoHS โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 จึงมีผลให้ DecaBDE กลายเป็นสารต้องห้ามตามระเบียบ RoHS ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ดังนั้น หลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสาร DecaBDE อาจกลายเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายในตลาดอียู
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2550 ไทยส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปสหภาพยุโรปมูลค่า 96,890 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าส่งออก 89,351 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่ยังมีสารนี้อยู่ในคลังสินค้า ควรต้องพิจารณาเตรียมการหาสารทดแทนอื่นๆ มารองรับการผลิตสินค้าที่จะส่งไปอียูภายหลัง 1 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไป